ยอดสั่งซื้อ Machine Tools เยอรมัน ไตรมาสที่ 2/2020

ยอดสั่งซื้อ Machine Tools เยอรมัน Q2 2020 สาหัส ตกเกือบ 50%

อัปเดตล่าสุด 21 ส.ค. 2563
  • Share :
  • 1,330 Reads   

VDW (German Machine Tool Builders’ Association) เผยยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกล (Machine Tools) เยอรมันไตรมาสที่ 2 ปี 2020 ลด 46% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมียอดสั่งซื้อในประเทศลดลง 36% และจากต่างประเทศลดลง 51% ทำให้ในครึ่งปีที่ผ่านมานี้ ยอดสั่งซื้อลดลงรวม 35% จากปีที่แล้ว 

Dr. Wilfried Schäfer ผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร VDW เปิดเผยว่า ในไตรมาสที่ผ่านมานี้ ผู้ใช้ Machine Tools ในหลายเซ็กเตอร์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอากาศยานและอุตสาหกรรมยานยนต์มียอดขายลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้มีโรงงานหลายแห่งต้องหยุดการผลิต หรือลดกะเป็นการชั่วคราว จึงส่งผลกระทบต่อยอดสั่งซื้อเครื่องจักรกลโดยตรง อย่างไรก็ตาม เริ่มปรากฏสัญญาณบวกในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นแนวโน้มอันดีว่าสถานการณ์ได้ผ่านช่วงต่ำสุดมาแล้ว

ยอดสั่งซื้อ Machine Tools เยอรมัน ไตรมาสที่ 2/2020

หากพิจารณาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchase Managers Index: PMI) และดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจของเยอรมนี (German Ifo Business Climate Index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดชั้นนำของเยอรมนีแล้ว พบว่าสัญญาณบวกเด่นชัดมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิดที่ดัชนี PMI แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการเติบโต โดยมีตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตคือจีน สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็นเรื่องที่เหนือความคาดหมาย ในขณะที่ดัชนีบรรยากาศทางธุรกิจเผยให้เห็นถึงการฟื้นตัวของเม็ดเงิน และร้านค้าปลีก รวมถึงปริมาณการผลิต และการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่ง Dr. Wilfried Schäfer แสดงความเห็นว่า ทำให้ในช่วงครึ่งปีหลังมีความหวังมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา VDW คาดการณ์ว่า ยังคงต้องอาศัยเวลาอีกระยะหนึ่ง กว่าที่การฟื้นตัวจะส่งผลต่ออุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เนื่องจากเป็นส่วนอยู่ในช่วงท้ายของไซเคิลการลงทุน จึงคาดการณ์ว่า ในอีก 6 เดือนข้างหน้า ยอดขายเครื่องจักรจะยังไม่ฟื้นตัวมากนัก เห็นได้จากยอดขายที่ลดลง 26% ในช่วงครึ่งแรกปี 2020 

นอกจากนี้ VDW พบว่าธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย Digitalisation และ 5G รวมถึงธุรกิจที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านเครื่องมือแพทย์ และอิเล็กทรอนิกส์มีความได้เปรียบกว่าธุรกิจอื่น ๆ แต่ด้วยสถานการณ์ในภาพรวมที่ยังไม่คงตัว จึงเป็นไปได้ยากที่จะคาดการณ์การลงทุนในอนาคตได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากทุกบริษัทล้วนให้ความสำคัญกับการผ่านวิกฤตไปให้ได้เสียก่อน โดยที่ยังต้องรักษากำลังการผลิต และพัฒนาตัวเองควบคู่ไปด้วย พร้อมเปิดเผยว่าในเดือนพฤษภาคมนี้ จำนวนลูกจ้างในอุตสาหกรรมเยอรมันลดลง 3.7% จากปีที่แล้ว