เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีหวัง โบอิ้งคาดต้องการเครื่องบินโดยสารหลายพันลำในปี 2039

ความหวัง-โอกาสใหม่ โบอิ้งคาด การบินและอากาศยานเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โตติดท็อป 5 ของโลกในสองทศวรรษ

อัปเดตล่าสุด 5 มี.ค. 2564
  • Share :
  • 2,781 Reads   

♦ Boeing คาดการณ์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความต้องการเครื่องบินโดยสารมากถึง 4,400 ลำ และมีปริมาณการสัญจรทางอากาศเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% คิด ทำให้ขึ้นเป็นตลาดการบินใหญ่อันดับ 5 ของโลกภายในปี 2039 

♦ แม้โควิดจะกระทบการบินในระยะสั้น แต่จะไม่ทำให้ความต้องการระยะยาวเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะสายการบินโลว์คอสต์จะต้องการเครื่องบินลำตัวแคบจำนวนมากถึง 3,500 ลำ

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2021 โบอิ้ง (Boeing) เผยรายงานแนวโน้มตลาดเครื่องบินพาณิชย์ ฉบับปี 2020 ซึ่งคาดการณ์ว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีความต้องการเครื่องบินโดยสารมากถึง 4,400 ลำ คิดเป็นมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการเดินทางในช่วงปี 2020 - 2039 และจะขึ้นเป็นตลาดการบินใหญ่อันดับ 5 ของโลกภายในสองทศวรรษ 

นอกจากนี้ โบอิ้งยังคาดการณ์ว่า ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีปริมาณการสัญจรทางอากาศเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.7% ไปจนถึงปี 2039 ซึ่งเป็นตัวเลขการเติบโตที่มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเกือบ 50% และจะกลายเป็นตลาดใหญ่อันดับ 2 รองจากจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และจะมีจำนวนเครื่องบินโดยสารเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5.3% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

Darren Hulst รองประธานฝ่ายการตลาดเครื่องบินพาณิชย์ของบริษัทโบอิ้ง แสดงความเห็นว่า ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการเติบโตของตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือภาคเศรษฐกิจซึ่งมีการเติบโตมากถึง 70% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ความต้องการสัญจรทางอากาศสูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางที่มีสัดส่วนมากขึ้นในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ รัฐบาลหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งจะกระตุ้นความต้องการเที่ยวบินให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม โบอิ้งยอมรับว่าในระยะสั้นความต้องการเครื่องบินโดยสารได้รับผลกระทบรุนแรงทั่วโลกจากการระบาดของโควิด แต่จะไม่ทำให้ความต้องการระยะยาวเปลี่ยนแปลง โดยคาดการณ์ว่าภายในปี 2039 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะต้องการอากาศยานลำตัวแคบ หรืออากาศยานแบบมีช่องทางเดินเดียว (Single aisle aircraft) มากกว่า 3,500 ลำ โดยมีกลุ่มลูกค้าหลักคือสายการบินราคาประหยัด

ส่วนอากาศยานลำตัวกว้าง โบอิ้งคาดการณ์ว่าจะฟื้นตัวช้ากว่าอากาศยานลำตัวแคบ และมีความต้องการอยู่ที่ 760 ลำในปี 2039 คิดเป็น ซึ่งทางบริษัทฯ คาดว่ายอดจัดส่งอากาศยานลำตัวกว้างสู้่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีสัดส่วนมากถึง 1 ใน 4 ของอากาศยานลำตัวกว้างทั้งหมดในเอเชียแปซิฟิก

นอกจากนี้ ทางบริษัทฯ ยังคาดการณ์เพิ่มเติมว่าตลาดบริการหลังการขายในเอเชียแปซิฟิกจะเติบโตขึ้นไปมีมูลค่า 7.9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2039 อีกด้วย ซึ่งเป็นผลจากแนวโน้มการดัดแปลงเครื่องบินโดยสารเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้าจากโควิด และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในธุรกิจการบิน ซึ่งจะนำไปสู่ความต้องการพนักงานสายการบินเพิ่มขึ้นมากถึง 183,000 ตำแหน่ง