ดัชนี PMI ก.ค. 65 ทั่วโลกชะลอตัวต่ำสุดรอบ 2 ปี
ราคาสินค้าที่พุ่งสูงสวนทางกับดีมานด์ในตลาดกระทบเศรษฐกิจโลก ดันดัชนี PMI เดือนกรกฎาคม 2565 ชะลอตัวลดต่ำที่สุดรอบ 2 ปี
Advertisement | |
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2022 รอยเตอร์รายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สะท้อนการหดตัวของภาคการผลิตในหลายประเทศทั่วโลก
สหรัฐอเมริกา
สถาบัน ISM (Institute for Supply Management) รายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตของสหรัฐอเมริกาประจำเดือนกรกฎาคม 2022 ขยายตัวอยู่ที่ระดับ 52.8 ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 และลดลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 53.0 สะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตที่ชะลอตัวลง
นอกจากนี้ ยังพบว่ายอดคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 48.0 ลดลงจาก 49.2 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และเมื่อรวมกับยอดสั่งซื้อคงค้างที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการผลิตของสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะชะลอตัวลงอีกในไม่กี่เดือนข้างหน้า
ยุโรป
ผลสำรวจของ S&P Global รายงานว่าดัชนี PMI ภาคการผลิตของยุโรปในเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 49.8 ลงลงจาก 52.1 ในเดือนมิถุนายน ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งมีการเติบโตต่อเนื่อง ในขณะที่ตัวชี้วัดผลผลิตอยู่ที่ 46.3 ต่ำที่สุดในรอบกว่า 2 ปี ซึ่งเป็นผลจากการขึ้นราคาสินค้าทั่วโลก วิกฤตซัพพลายเชน และสงครามรัสเซียยูเครน
S&P Global เปิดเผยว่า ภาคการผลิตในยุโรปกำลังหดตัวลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมนี ฝรั่งเศส และอิตาลี ซึ่งเป็น 3 ประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยุโรป
ไม่ใช่เพียงภาคการผลิตเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ โดยสำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐเยอรมนี (Destatis) รายงานว่าผู้ค้าปลีกเยอรมันมียอดขายหดตัวลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเป็นการหดตัวต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994
ส่วนในอังกฤษนั้น ธนาคารแห่งประเทศอังกฤษเปิดเผยว่าดัชนี PMI เดือนกรกฎาคมลดต่ำที่สุดตั้งเดือนพฤษภาคม 2020
เอเชีย
ทางด้านเอเชียนั้นยังคงประสบปัญหาจากวิกฤตซัพพลายเชนอย่างต่อเนื่อง โดยเกาหลีใต้ประสบกับการหดตัวของภาคการผลิตเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 2 ปี ในขณะที่ญี่ปุ่นมีการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 10 เดือน
ส่วนในจีนเอง สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนรายงานว่าดัชนี PMI อยู่ที่ระดับ 49.0 ในขณะที่สถาบัน Caixin รายงานว่าดัชนี PMI ภาคเอกชนจีนอยู่ที่ระดับ 50.4 ซึ่งทั้งสองตัวเลขสะท้อนให้เห็นว่าภาคการผลิตจีนได้ถดถอยลงจากเดือนมิถุนายนที่มีการเติบโตสูงสุดในรอบ 13 เดือน
ในอีกด้านหนึ่ง การขึ้นราคาสินค้านำเข้าในจีน ไต้หวัน อินเดีย และเกาหลีใต้ได้ชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน
สำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยรอยเตอร์รายงานว่าดัชนี PMI ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทยได้เติบโตสวนทางกับประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน
ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทย รายงานตัวเลขดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ระดับ 59.9 ขยายตัวจาก 50.5 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากการคลายล็อกกิจกรรมและกิจการทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการกลับมาจัดงานแสดงสินค้า
ฝั่งอินเดียเป็นอีกประเทศในเอเชียที่มีการเติบโตของภาคการผลิต โดยมีดัชนี PMI อยู่ที่ 56.4 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 8 เดือน สืบเนื่องจากยอดคำสั่งซื้อและกำลังการผลิตที่สูงขึ้น
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH