ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม กันยายน 2561
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน ลดลงร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ไตรมาส 3/2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในขณะที่ 9 เดือนแรกยังคงขยายตัวร้อยละ 2.9 ขณะที่อุตสาหกรรมที่ส่งผลบวกคือ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเครื่องปรับอากาศยังส่งผลบวก
นายอิทธิชัย ปัทมสิริวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนกันยายน 2561 ลดลงร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 2.9 (9 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.9) อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 66.35 ซึ่งยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนกันยายน 2561 ได้แก่ น้ำตาลทราย ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำมันปิโตรเลียม เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) และเครื่องปรับอากาศ
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนกันยายน ได้แก่
- น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 107.98 จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบไปเป็นน้ำตาลทรายขาว
- ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 7.14 จาก PCBA และ Other IC ตามความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ขยายตัวร้อยละ 17.72 จากเครื่องแต่งกายชั้นนอกบุรุษและเด็กชาย โดยเพิ่มขึ้นจากตลาดส่งออกไปยังอเมริกาและยุโรปโดยเป็นสินค้าชุดกีฬา และตลาดในประเทศ จากการเร่งผลิตเพื่อรอจำหน่ายในช่วงปลายปี
- เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน ขยายตัวร้อยละ 15.81 จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปตลาดญี่ปุ่นรวมถึงตลาดฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซียที่ยังมีความต้องการเพิ่มขึ้น การจำหน่ายในประเทศจากการกระตุ้นยอดขายของผู้ผลิต
นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อดัชนีในเดือนกันยายน ได้แก่
- อุตสาหกรรมอาหาร การผลิตในภาพรวมเดือนกันยายนปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 8.3 เพื่อรองรับผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาวที่เพิ่มขึ้นมาก และการผลิตทูน่ากระป๋องเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับความต้องการของตลาดส่งออก และผลจากเศรษฐกิจภาพรวมที่กำลังซื้อในประเทศเริ่มแข็งแกร่งขึ้น รวมทั้งเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งและต่อเนื่อง ซึ่งช่วยหนุนความต้องการสินค้าไทยทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านห่วงโซ่อุปทานการผลิต
- อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการผลิตขยายตัวร้อยละ 32.00 ตามการขยายตัวที่ดีของตลาดทั้งในและต่างประเทศ