ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม มิถุนายน 2561
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนมิถุนายน 2561 จำนวน 1,019 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน 2561 อยู่ที่ระดับ 91.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.2 ในเดือนพฤษภาคม โดยค่าดัชนีฯ สูงสุดในรอบ 42 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2558
ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
จากการสำรวจ พบว่า ในเดือนมิถุนายน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และสูงสุดในรอบ 42 เดือน โดยความเชื่อมั่นที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ส่วนใหญ่อยู่ในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สะท้อนว่าผู้ประกอบการมองภาพรวมของเศรษฐกิจภายในประเทศ ยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง อีกทั้งยังได้รับผลดีจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในช่วงเทศกาลฟุตบอลโลก 2018 ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ขณะเดียวกัน การฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายจากต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ยังไม่ครอบคลุมทุกภูมิภาค ตลอดจนราคาน้ำมันที่มีความผันผวนและปัญหาการแข่งขันด้านราคา
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ระดับ 102.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.6 ในเดือนพฤษภาคม จากปัจจัยด้านการลงทุนของภาครัฐ และการส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง แต่ยังมีความกังวลต่อมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้กระทบต่อต้นทุนประกอบการ
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมิถุนายน 2561 จากการสำรวจ พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนพฤษภาคม โดยมีรายละเอียดมีดังนี้
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะเลแช่แข็ง และผักผลไม้แช่แข็ง มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯและเอเชีย นอกจากนี้อาหารสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากได้รับผลดีจากการแข่งขันฟุตบอลโลก)
- อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากอุตสาหกรรมยาน-ยนต์, ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ขณะที่สินค้าประเภทกระป๋อง ขวด อลูมิเนียมมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม)
- อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง รถกระบะ รถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ด้านการส่งออก มีคำสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชีย ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 105.1 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (โทรทัศน์ดิจิทัล มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลโลก ด้านการส่งออกแผงวงจรไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐฯ ยุโรปและเอเชีย อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯและ CLMV)
- อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดกีฬา มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้ากีฬาและชุดชั้นใน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐ อาเซียน และยุโรป)
- อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศลาว)
- อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาด CLMV)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.6 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ (สินค้าประเภทเส้นใยสิ่งทอและเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้เพื่อผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป การส่งออกเส้นใยสังเคราะห์และเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 92.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 89.3 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ประเภทอะไหล่และล้อยาง อุปกรณ์เสริม มีคำสั่งซื้อจากตลาดญี่ปุ่น)
- อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กรีดร้อน ชนิดแผ่นและชนิดม้วน เหล็กทรงยาว มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ในโครงการลงทุนของภาครัฐ)
- อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติก มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน สารโพลิเมอร์ มีคำสั่งซื้อจากในประเทศเพิ่มขึ้นและส่งออกไปยังตลาดอาเซียนเพิ่มขึ้น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.1 เพิ่มขึ้นจากระดับ 108.4 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางแท่ง STR มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 103.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 102.0 ในเดือนพฤษภาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมิถุนายน2561 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศ ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
เสนอให้ภาครัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ในโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในส่วนภูมิภาค ซึ่งจะมีส่วนสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาค รวมทั้งส่งเสริมการใช้สินค้าที่ผลิตและใช้วัตถุดิบในประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดย่อมซึ่งเป็นผู้ผลิตต้นน้ำให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่