ชาร์ป 8K Ecosystem ลุ้นโปรเจ็กต์ยักษ์ ลงทุนอีอีซี

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ค. 2561
  • Share :
  • 383 Reads   

หลังจากหายหน้าหายตาไปพักใหญ่ ๆ ของผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ารายใหญ่จากญี่ปุ่น "ชาร์ป" ที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ผลิตสัญชาติไต้หวันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่บริษัทฟอกซ์คอน จากเครือ "หงไห่ พรีซีชั่น อินดัสทรี" ได้เข้าซื้อกิจการในช่วงที่ผ่านมา

ความเคลื่อนไหวของชาร์ปกับตลาดในเมืองไทยมีความเข้มข้นมากขึ้นอีกครั้ง หลังจากเจ้าของรายใหม่ ไฟเขียวย้ายให้ฐานผลิตจากมาเลเซียกลับมายังประเทศไทยในรอบ 10 ปี โดยใช้ฐานผลิตเดิมที่จังหวัดนครปฐม เปิดไลน์ผลิตจอแอลซีดี และแอลอีดีใหม่อีกครั้ง ตลอดจนโรงงานที่บางปะกง เป็นฐานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพื่อส่งออกและป้อนตลาดในประเทศ พร้อม ๆ กับมีการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ "8K" ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์หลักที่ชาร์ปจะใช้ขับเคลื่อนธุรกิจต่อจากนี้ 

ล่าสุด ชาร์ป และฟอกซ์คอน ยังอยู่ระหว่างการพูดคุยกับ "สมคิด จาตุศรีพิทักษ์" รองนายกรัฐมนตรี ถึงการเข้าร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) โดยมีการพบปะพูดคุยกันถึง 2 ครั้งในช่วงเดือนที่ผ่านมา

"โรเบิร์ต อู" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ระบุว่า วิสัยทัศน์ของชาร์ปและยุทธ์ศาสตร์ชาติ ไทยแลนด์ 4.0 ที่มีโครงการอีอีซีเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น มีความคล้ายคลึงกันมาก นั่นคือ นโยบายของรัฐบาลไทยที่ต้องการยกระดับอุตสาหกรรม สร้างฐานการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ การผลักดันให้เกิดสมาร์ทซิตี้ ที่จะพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน ดิจิทัล ฯลฯ

เช่นเดียวกับชาร์ป ที่มีวิสัยทัศน์ "Changing the world with 8K" หรือการใช้เทคโนโลยี 8K ที่มีความละเอียดกว่าจอแบบ Full HD 16 เท่า เพื่อสร้างระบบนิเวศใหม่ขึ้นมา ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวไม่เพียงเข้าไปอยู่การแสดงผลของจอโทรทัศน์ในครัวเรือนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงชีวิตประจำวันต่าง ๆ เช่น โทรคมนาคม ระบบโครงสร้างพื้นฐาน การแพทย์ การรักษาความปลอดภัย ฯลฯ 

"ชาร์ปทำธุรกิจในไทยมา 82 ปี และมีความพยายามที่จะเป็น local company ซึ่งในตอนนี้เรามีทั้งการขายสินค้า บริการ รวมถึงการผลิตที่นี่ เพราะไทยถือเป็นตลาดสำคัญของชาร์ปในภูมิภาคนี้ เห็นได้จากการที่ผู้บริหารระดับสูงของชาร์ปได้หารือกับรองนายกฯ เรื่องอีอีซี ถึง 2 ครั้งซึ่งเรามั่นใจว่าการร่วมมือในภาคเศรษฐกิจของทั้ง 2 ฝ่ายจะเข้ากันได้ดี" 

"โรเบิร์ต" ยังระบุต่อไปอีกว่า ทางชาร์ปมีนโยบายการลงทุนในไทยที่แอ็กเกรสซีฟมากขึ้น แม้จะยังบอกไม่ได้ว่าบริษัทจะลงทุนอะไรบ้าง แต่เมื่อพิจารณาจากยุทธศาสตร์ที่ต้องการผลักดันจอทีวี 8K ในไทย และสร้างระบบนิเวศใหม่ขึ้นมาแล้ว ในอนาคตจึงวางแผนที่จะสร้างไลน์ผลิตจอทีวี 8K ในไทย จากปัจจุบันที่ใช้ฐานผลิตในญี่ปุ่นเป็นหลัก

พร้อมกันนี้ ในแง่ธุรกิจ B2C หรือ business to consumer ชาร์ปเตรียมที่จะวางขายจอ 8K  รุ่น "AQUOS 8K series" ภายในช่วงสิ้นปีนี้อีกด้วย ซึ่งจะมีทั้งหมด 3 ขนาด คือ 60 นิ้ว 70 นิ้ว และ 80 นิ้ว ซึ่งในญี่ปุ่นวางขายในราคา 1 ล้านเยน หรือประมาณ 3 แสนบาท สำหรับจอ 70 นิ้ว ส่วนราคาในไทยยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เพื่อสื่อสารถึงประสิทธิภาพของจอ บริษัทได้ร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดตัวภาพยนตร์เพื่อประชาสัมพันธ์สถานที่ท่องเที่ยว กิจกรรม เทศกาล และงานประเพณีไทย ที่บันทึกภาพด้วยกล้อง 8K เรื่องแรกในอาเซียน ซึ่งจะถูกเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ของ ททท. รวมถึงจอภาพของชาร์ป AQUOS 8K ตามโชว์รูม ที่มีเครือข่ายอยู่ในเอเชีย และอาเซียนจำนวนมาก 

แม้ในปัจจุบันคอนเทนต์ หรือช่องการรับชม ในระบบ 8K ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก แต่ก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวจากผู้ผลิตคอนเทนต์ เช่น สถานีโทรทัศน์ NHK ที่จะเปิดตัวช่องใหม่ที่ให้บริการแพร่ภาพในระบบ 8K หรือ "Super Hi-Vision" ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ และคาดว่าจะมีคอนเทนต์สำหรับ 8K เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านมายังเทคโนโลยี 4K ที่ปัจจุบันมีคอนเทนต์ หรือช่องทางการรับชมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม ตลาดคอนซูเมอร์อาจดูเล็กน้อยไปทันตา หากการเจรจาในโครงการอีอีซีเป็นผลสำเร็จ