ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พฤษภาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 28 มิ.ย. 2561
  • Share :
  • 532 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI) ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 มีการขยายตัวร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 เป็นผลจากการส่งออกที่ฟื้นตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ 5 เดือนแรกของปี 2561 MPI ขยายตัวร้อยละ 3.8 (5 เดือนแรกปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 0.4) 

โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกประจำเดือนพฤษภาคม 2561 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์  น้ำตาลทราย  เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ยา  Hard Disk Drive  และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์    


สินค้าในอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมมีการขยายตัว ได้แก่

  1. รถยนต์และเครื่องยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.89  จากรถปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดไม่เกิน 1,800 cc. เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่อง
  2. น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.93 จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกอ้อย และสภาพอากาศเอื้ออำนวยทำให้มีผลผลิตมากกว่าปีก่อน
  3. เภสัชภัณฑ์ เคมีภัณฑ์ยา เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.43 จากยาแคปซูลและยาเม็ดเป็นหลัก จากการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับการขยายตลาดที่มีการเปิดตลาดใหม่ (เช่น ฮ่องกง) และตลาดในประเทศ
  4. คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่อพ่วง เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.92  โดยเฉพาะ HDD ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการที่บริษัทแม่ได้เพิ่มการผลิตในไทย รวมถึงความต้องการในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นตามการพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล
  5. อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแผ่นวงจร เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.32  โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกสินค้าเช่น PCBA Semiconductor จากความต้องการของตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น


ภาวะอุตสาหกรรมสำคัญในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 ที่ยังคงขยายตัวได้ดี ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมไฟฟ้า จะมีการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากภาคอสังหาริมทรัพย์ 
  2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จะมีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.65 จากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และ Hard Disk Drive 
  3. อุตสาหกรรมรถยนต์ จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 530,000 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.61 โดยเป็นการจำหน่ายในประเทศประมาณ 220,000 คัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.40
  4. อุตสาหกรรมอาหาร จะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 9.6 จากปัจจัยบวกอย่างผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากเพิ่มพื้นที่ปลูกและสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย 
  5. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง คาดว่าการผลิตยางรถยนต์ในประเทศจะขยายตัวร้อยละ 1.66 ยางรถจักรยานยนต์/จักรยานคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.10 ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจคาดว่าจะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.33
  6. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ขยายตัวตามทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจของ คู่ค้า โดยเฉพาะการส่งออกเส้นใย และผ้าผืนจากใยสังเคราะห์ ไปยังตลาด CLMV