ส่งออกปี’60 ขยายตัว 9.9% ทะลุ 2.36 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 6 ปี

อัปเดตล่าสุด 22 ม.ค. 2561
  • Share :
  • 383 Reads   

ส่งออกปี’60 ขยายตัว 9.9% ทะลุ 2.36 แสนล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 6 ปี คาดการณ์เป้าหมายส่งออกปี’61 ขยายตัว 5-7% จับตาปัจจัยเสี่ยงบาทแข็ง-ราคาน้ำมันดิบแพง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกในเดือนธันวาคม 2560 มีมูลค่า 19,741 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 8.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ในขณะที่การนำเข้าเดือนธันวาคม 2560 มีมูลค่า 20,019 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 16.6% ส่งผลให้การค้าขาดดุล 278 ล้านเหรียญสหรัฐ

โดยภาพการส่งออกไทยทั้งปี มีมูลค่า 236,694 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขยายตัวอยู่ที่ 9.9% สูงสุดในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 2555 การนำเข้า ทั้งปี มีมูลค่า 222,763 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวอยู่ที่ 14.7% และการค้าเกินดุลอยู่ที่ 13,931 ล้านเหรียญสหรัฐ

ปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มาจากเศรษฐกิจประเทศผู้นำเข้าขยายตัวดี ตลาดสำคัญขยายตัวทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดอินเดีย และตลาด CLMV มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนตลาดหลักขยายตัว 8.3% ตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป

สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวเป็นเดือนที่ 14 ขยายตัว 6.6% โดยสินค้าที่ขยายตัว เช่น ข้าว ขยายตัว 11% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัว 7.92% อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 7.4% ไก่สดแข่งแข็งและแปรรูป ขยายตัว 7.5% สินค้าที่ส่งออกหดตัว เช่น น้ำตาลทราย หดตัว 43.79% จากปัจจัยราคาน้ำตาลโลกลดลง กุ้งสดแช่แข็งและกุ้งแปรรูป หดตัว 12.4% ผลจากตลาดสหรัฐ เวียดนาม นำเข้าลดลง

ส่วนสินค้าอุตสหกรรม ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 10 ขยายตัว 10% โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 60.4% คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ขยายตัว 19.5% รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 12.9% ส่วนสินค้าส่งออกที่หดตัว เช่น ทองคำ หดตัว 21.1% ตู้เย็น ตู่แช่แข็งและส่วนประกอบ หดตัว 6.68%

นางสาวพิมพ์ชนกกล่าวว่า ภาพการส่งออกทั้งปี 2561 คาดการณ์ว่าจะขยายตัว 5-7% โดยมีมูลค่าระหว่าง 248,529–253,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งการส่งออกต่อเดือนนั้น หากการส่งออกทั้งปีขยายตัว 5% การส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยจะต้องอยู่ที่ประมาณ 20,711 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือหากการส่งออกทั้งปีขยายตัวอยู่ที่ 7% การส่งออกต่อเดือนเฉลี่ยจะต้องอยู่ที่ประมาณ 21,105 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ดี การส่งออกจะขยายตัวก็ต้องอยู่ภายใต้ปัจจัยอื่นประกอบด้วย โดยปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมาย เช่น อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในกรอบ 32 -34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ น้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 55-65 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล การขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 3-5% รวมไปถึงทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าด้วย ซึ่งแนวโน้มมีทิศทางขยายตัวไปในทิศทางที่ดีทั้งจีน ญี่ปุ่น สหรัฐ กลุ่มประเทศอาเซียน เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกไทยขยายตัวไปในทิศทางที่ดี ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่าซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าเกษตร มาตรการกีดกันทางการค้า

อย่างไรก็ดี สินค้าที่มีแนวโน้มส่งออกดีในปี 2561 เช่น รถยนต์นั่ง ขยายตัวตามตลาดออสเตรเลีย ความต้องการของตลาดจีนและรัสเซีย เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มีแนวโน้มขยายตัว ผลิตภัณฑ์ยาง ความต้องการจากจีน และเม็ดพลาสติกและผลิตภัณฑ์พลาสติก มีความต้องการต่อเนื่อง เป็นต้น โดยสินค้าเหล่านี้จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกขยายตัวไปได้ดี