ดัชนีความเชื่อมั่นฯ กันยายน 2560 กระเตื้อง ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 บริโภค ใช้จ่ายในประเทศส่งสัญญาณ ปัจจัยหนุน

อัปเดตล่าสุด 18 ต.ค. 2560
  • Share :
  • 413 Reads   

นายเจน  นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) กันยายน 2560 จำนวน 1,044 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 29.5, 36.4 และ 34.1 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2560 อยู่ที่ระดับ 86.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.0 ในเดือนสิงหาคม ทั้งนี้ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ

อย่างไรก็ตามดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันสะท้อนมุมมองในเชิงบวกของผู้ประกอบการที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวมเห็นได้จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเพื่อส่งมอบในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่การบริโภคภายในประเทศเริ่มมีสัญญาณที่ดีสะท้อนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าโดยเฉพาะจากผู้ประกอบการขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรก ในรอบ 6 เดือนสอดคล้องกับการที่ผู้ประกอบการได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อปัจจัยเสี่ยงในด้านกำลังซื้อของภาคเกษตรและปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศซึ่งส่งผลกระทบต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน

 

ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ102.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.9 ในเดือนสิงหาคม เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องจากการบริโภคภายในประเทศ การส่งออก การลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ

สำหรับด้านปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการ ในเดือนกันยายน 2560 พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ส่วนปัจจัยที่มีความกังวลลดลง ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก สถานการณ์การเมืองในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการที่มีต่อภาครัฐในเดือนกันยายน คือ ต้องการให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต เพื่อลดต้นทุนและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า รวมถึงกำหนดมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) สินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และ ส่งเสริมผู้ประกอบการขยายการลงทุนไปยังกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตสูงในอนาคต

Source: M Report