109-Forbes-จัดอันดับ-ธุรกิจ-เศรษฐีโลก

5 บริษัทไทยจิ๋วแต่แจ๋ว ติดอันดับ Asia’s 200 Best Under A Billion

อัปเดตล่าสุด 29 ส.ค. 2562
  • Share :

เป็นประจำทุกปีที่หลายสถาบันมีการจัดอันดับต่าง ๆ ตามแนวทางของแต่ละสถาบัน หนึ่งในสถาบันที่ได้รับการยอมรับและใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงกันทั่วโลกก็คือ ฟอร์บส (Forbes) นิตยสารธุรกิจชื่อดังจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งล่าสุดฟอร์บสได้ประกาศรายชื่อการจัดอันดับด้านธุรกิจและการเงินออกมาในช่วงกลางปีเหมือนเช่นปีก่อน ๆ อย่างที่เราได้เห็นสื่อทั่วโลกนำเสนอเป็นข่าวใหญ่ไปแล้วก็คือ อันดับมหาเศรษฐีโลก ที่ได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องเสมอมา


ในบรรดาการจัดอันดับหลายอย่างที่ฟอร์บสประกาศออกมา มีการจัดอันดับอันหนึ่งที่ไม่ค่อยเป็นข่าว แต่ถือว่าน่าสนใจมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจและเป็นนักลงทุนในทวีปเอเชีย นั่นก็คือ Asia’s 200 Best UnderA Billion 2019 หรือ 200 บริษัทมหาชนรายได้ต่ำกว่าพันล้านที่ดีที่สุดในเอเชียประจำปี 2019

สำหรับลิสต์ Asia’s 200 Best Under A Billion 2019 ฟอร์บสเลือกจากบริษัทมหาชนขนาดเล็กและกลางในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มีรายได้ 5 ล้านถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยคัดเลือก 200 บริษัทที่มีรายได้และกำไรเติบโตดี มีผลตอบแทนเฉลี่ยต่อหุ้นแข็งแกร่งตลอด 5 ปีย้อนหลัง และมีภาระหนี้ต่ำ แล้วนำเสนอรายชื่อโดยเรียงตามตัวอักษร ไม่ได้จัดเรียงอันดับ

ฟอร์บสรายงานว่า 200 บริษัทนี้มีการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 50% ทั้งกำไรสุทธิและรายได้ โดยกำไรสุทธิของ 200 บริษัทรวมกันเป็นเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3 แสนล้านบาท ส่วนรายได้รวมกันเป็นเงิน 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.6 ล้านล้านบาท

เป็นไปตามที่ทราบกันว่า ยุคนี้เป็นยุคมังกรผงาด ธุรกิจจีนเติบโตดีวันดีคืน ใน 200 รายชื่อ จึงเป็นบริษัทจีนไปแล้ว 95 บริษัท และถ้านับทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง ไต้หวัน รวมกันจะเป็นจำนวนมากถึง 122 บริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากจำนวน 108 บริษัท เมื่อปี 2018 ส่วนบริษัทจากภูมิภาคอาเซียนติดอันดับรวมทั้งหมด 17 บริษัท ซึ่งมาจาก 5 ประเทศเท่านั้น คือ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

ที่น่าสนใจย่อยลงไปอีกคือ ใน 200 บริษัทนั้นมีบริษัทไทยติดอันดับอยู่ 5 บริษัท ซึ่ง “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลของทั้ง 5 บริษัทนั้นมาให้คุณผู้อ่านได้รู้จักกันว่าเป็นบริษัทไหน ทำธุรกิจอะไร และผลประกอบการดีขนาดไหน

Exotic Food

มาร์เก็ตแคป : $112M

รายได้ : $35M

กำไร : $7M

ผู้บริหาร : นายวัฒนา จันทรัช ประธานกรรมการบริหาร

Exotic Food หรือบริษัท เอ็กโซติค ฟู้ด จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจอุตสาหกรรมอาหาร ก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2542 ด้วยทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท และเพิ่มทุนจดทะเบียนมาเรื่อย ๆ จากนั้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อเดือนธันวาคม 2556 ปัจจุบันมีทุนจดทะเบียน 211.85 ล้านบาท

โปรดักต์หลัก ๆ ของบริษัทนี้เป็นพวกซอสและเครื่องปรุงรสอาหาร อย่างเช่น ซอสพริก เครื่องแกง น้ำจิ้มต่าง ๆ และมีอาหารสำเร็จรูปด้วย

เอ็กโซติค ฟู้ด เริ่มต้นจากวิสัยทัศน์ของสองพี่น้อง คือ จิตตพร และวาสนา จันทรัช ที่หลงใหลในอาหารไทย และเล็งเห็นโอกาสในการนำเครื่องปรุงรสอาหารไทยไปใช้ในการประกอบอาหารสำหรับชาวต่างชาติจึงก่อตั้งบริษัททำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องปรุงรสและเครื่องประกอบอาหาร โดยเริ่มต้นด้วยรายการสินค้าไม่กี่โหล และเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันมีสินค้ากว่า 200 รายการ ส่งออกไปขายยัง 62 ประเทศทั่วโลก

Pylon

มาร์เก็ตแคป : $142M

รายได้ : $44M

กำไร : $7M

ผู้บริหาร : ดร.ชเนศวร์ แสงอารยะกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการและบริหารความเสี่ยง และกรรมการผู้จัดการใหญ่

Pylon หรือบริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานราก ก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2545 ด้วยทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ตามข้อมูลบริษัทบอกว่า บริษัทก่อตั้งขึ้นมาเพื่อรองรับงานก่อสร้างซึ่งเริ่มฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง

ไพลอนเติบโตจากการรับงานเป็นซับคอนแทร็กต์ให้กับเจ้าใหญ่อย่าง ซิโน-ไทยฯ โดยได้รับงานแรกในปี 2546 ด้วยผลงานเป็นที่พอใจ ซิโน-ไทยฯจึงให้ไพลอนเป็นผู้รับเหมาช่วงงานหลายโครงการต่อมา ทำให้ไพลอนเติบโตอย่างพุ่งพรวด เพิ่มทุนจดทะเบียนในเดือนมกราคม 2547 เป็น 60 ล้านบาท และในเดือนธันวาคม 2547 เพิ่มเป็น 95 ล้านบาท

เดือนพฤษภาคม ปี 2548 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 115 ล้านบาท และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ในเดือนธันวาคม 2548 จากนั้นผลประกอบการเติบโตดี มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนเกือบทุกปี ต่อมาไพลอนก่อตั้งบริษัทลูก คือ บริษัท เอ็กซิลอน จำกัด ในเดือนธันวาคม 2551 ซึ่งเติบโตเพิ่มทุนจดทะเบียนมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน

ต่อมาไพลอนย้ายการซื้อขายหลักทรัพย์มาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหาคม 2558

ก่อนหน้านี้ ไพลอนเคยได้รับการจัดอันดับใน Asia’s 200 Best Under A Billion มาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2557

Seafco

มาร์เก็ตแคป : $174M

รายได้ : $86M

กำไร : $11M

ผู้บริหาร : ดร.ณรงค์ ทัศนนิพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่

Seafco หรือบริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ทั้งงานก่อสร้างวิศวกรรมโยธาทั่วไป งานเจาะเสาเข็ม งานก่อสร้างโครงสร้างใต้ดิน ฯลฯ ก่อตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2517 ด้วยทุนจดทะเบียน 1.5 ล้านบาท ส่วนใหญ่รับงานเจาะเสาเข็มขนาดเล็ก ต่อมาได้ร่วมทุนกับบริษัทที่มีชื่อเสียงจากยุโรปขยายรับงานใหญ่ขึ้น และกิจการเติบโตเรื่อยมา

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547 ซีฟโก้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเปิดทำการซื้อขายหุ้นในปีนั้น ข้อมูล ณ เดือนพฤษภาคม 2562 ซีฟโก้มีทุนจดทะเบียน 369.854 ล้านบาท มีบริษัทในเครือ 3 บริษัท คือ บริษัท ซีฟโก้ คอนสตรัคชั่น จำกัด, บริษัท ซีฟโก้ อินเตอร์เทรด จำกัด และบริษัท ซีฟโก้ (เมียนมาร์) จำกัด

เช่นกันกับหลายบริษัทก่อสร้างขนาดเล็กและกลาง ซีฟโก้เติบโตจากการเป็นซับคอนแทร็กต์ให้บริษัทใหญ่ ๆ มีผลงานโครงการใหญ่ในอดีตที่เป็นที่รู้จัก คือ โครงการทางด่วนบางนา-บางพลี-บางปะกง ส่วนผลงานปัจจุบันก็อย่างเช่น งานฐานรากโครงการ One Bangkok งานเจาะเสาเข็มสำหรับสถานีรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีส้ม

ถ้าใครเป็นนักลงทุนก็คงจะทราบกันว่า ซีฟโก้เป็นหุ้นที่บรรดานักวิเคราะห์เชียร์กันมาก ๆ เพราะผลประกอบการเติบโตดี และกำไรดีมาก ๆ ด้วย

Siam Wellness Group

มาร์เก็ตแคป : $219M

รายได้ : $35M

กำไร : $6M

ผู้บริหาร : นายวิบูลย์ อุตสาหจิต ประธานกรรมการบริหาร

Siam Wellness Group หรือบริษัท สยามเวลเนสกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ทำธุรกิจสปา เดิมชื่อบริษัท บลูมมิ่งสปา จำกัด จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2544 ด้วยทุนจดทะเบียน 3 ล้านบาท เพื่อประกอบธุรกิจบริการนวดเพื่อสุขภาพ โดยให้บริการแบบเดย์สปา (day spa) ภายใต้แบรนด์ Let’s Relax และแบบเวลเนส สปา (wellness spa) ภายใต้แบรนด์ RarinJinda Wellness Spa พร้อมรับบริหารและให้บริการคำปรึกษาด้านสปา

ต่อมาเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทเป็น 40 ล้านบาท และ 100 ล้านบาท ตามด้วยจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 และในวันที่ 1 สิงหาคม 2558 ได้ซื้อทรัพย์สินและเครื่องหมายทางการค้าของบ้านสวนมาสสาจ

นอกจากนั้น สยามเวลเนสกรุ๊ป เข้าถือหุ้น 100% ใน 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท สยามเวลเนสรีสอร์ท จำกัด, บริษัท สยามเวลเนสแล็บ จำกัด, บริษัท สยามเวลเนส เอ็ดยูเคชั่น จำกัด

United Paper

มาร์เก็ตแคป : $204M

รายได้ : $115M

กำไร : $24M

ผู้บริหาร : ดร.ชิน ชินเศรษฐวงศ์ ประธานกรรมการบริษัท

United Paper หรือบริษัท ยูไนเต็ด เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) ก่อตั้งเป็นบริษัทจำกัด เมื่อ 15 สิงหาคม 2533 ด้วยทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2547 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 650 ล้านบาท และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนในปีเดียวกัน

ยูไนเต็ด เปเปอร์ ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายกระดาษคราฟต์สำหรับหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ นอกจากนั้นยังมีรายได้จากการขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯด้วย เนื่องจากบริษัทผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษ ต่อมาเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้ามากขึ้นจนเหลือใช้ในโรงงาน จึงเริ่มทำสัญญาขายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯเมื่อปี 2551

ยูไนเต็ด เปเปอร์ ติด 1 ใน 10 บริษัทที่ฟอร์บสไฮไลต์ประจำลิสต์นี้เลย เพราะว่าปี 2561 มีกำไรสุทธิ 777 ล้านบาท (24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เนื่องจากรายรับเพิ่มขึ้น 46% เป็น 3.7 พันล้านบาท รายได้ที่เติบโตขึ้นเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจค้าขายออนไลน์ ซึ่งต้องการกล่องกระดาษและกระดาษบรรจุภัณฑ์สำหรับจัดส่งสินค้า

ส่วนอัตรากำไรคิดเป็น 21% ของรายได้ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีกำไร 14% เป็นผลมาจากต้นทุนวัสดุผลิตกระดาษคราฟต์ต่ำลง เหตุเพราะจีนห้ามนำเข้าเศษกระดาษและกระดาษแข็งเมื่อเดือนมกราคม 2561 ผู้ผลิตและจำหน่ายวัสดุทำกระดาษคราฟต์จึงต้องขายภายในประเทศเป็นหลัก และปรับลดราคาลงตามดีมานด์ที่น้อยลง