ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ตุลาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 29 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 532 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนตุลาคม 2561  ขยายตัวร้อยละ 4.08  จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งรถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวก

นายอดิทัต วะสีนนท์  รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (Manufacturing Production Index - MPI)  ประจำเดือนตุลาคม 2561 ขยายตัวร้อยละ 4.08 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย 10  เดือนแรกของปี 2561  MPI ขยายตัวร้อยละ 3.04   อัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนตุลาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ  67.75  โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกในเดือนตุลาคม 2561 ได้แก่  รถยนต์และเครื่องยนต์ บุหรี่ น้ำตาลทราย น้ำมันปิโตรเลียม และเครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน

 

 

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนตุลาคม ได้แก่ 

  1. รถยนต์และเครี่องยนต์  ขยายตัวร้อยละ 16.73   เกือบทุกรายการสินค้าโดยเฉพาะเครื่องยนต์ดีเซล รถบรรทุกปิคอัพ และรถยนต์นั่งขนาดกลาง ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศเป็นหลักจากการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่
  2. บุหรี่  ขยายตัวร้อยละ 434.61 จากฐานต่ำในปีก่อนที่เริ่มต้นบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ส่งผลให้ราคาบุหรี่ในตลาดมีความผันผวนกระทบต่อคำสั่งซื้อโรงงานยาสูบจึงหยุดผลิตเป็นเวลา 2 สัปดาห์
  3. น้ำตาลทราย  ขยายตัวร้อยละ 145.09   จากผลผลิตอ้อยที่มีมากกว่าปกติทำให้โรงงานปิดหีบช้ากว่าปีก่อน จึงยังมีการแปรสภาพน้ำตาลทรายดิบเป็นน้ำตาลทรายขาว
  4. น้ำมันปิโตรเลียม  ขยายตัวร้อยละ 9.84 จากน้ำมันแก๊สโซฮอล 95 น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซินออกเทน 91 เป็นหลัก ตามความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการคมนาคมและการขนส่งในประเทศที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตต่อเนื่อง
  5. เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน  ขยายตัวร้อยละ 18.54  ตามการขยายตัวของตลาดในประเทศ จากการทำกิจกรรมทางการตลาดเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจและเพิ่มยอดขายของผู้ผลิต และการส่งออกยังคงเป็นคำสั่งซื้อจากตลาดญี่ปุ่น เป็นหลัก รวมถึงคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากลูกค้าแอฟริกา และอินโดนีเซีย

 


สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมสำคัญในปี 2562   เช่น

  1. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  คาดว่าจะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.5  เมื่อเทียบกับปีเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มขึ้น และตามความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  2. อุตสาหกรรมรถยนต์ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 2,200,000 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.76 เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศจะขยายตัว จากการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนที่จะขยายตัวดีขึ้น อันเนื่องจากเกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุนจากเสถียรภาพทางการเมือง ประกอบกับการลงทุนของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และการส่งออก  มีแนวโน้มขยายตัวตามอุปสงค์โลก อย่างไรก็ตามยังต้องคำนึงถึงผลของสงครามการค้า สหรัฐ-จีน ด้วย
  3. อุตสาหกรรมอาหาร  คาดว่าขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.5  จากปัจจัยบวก อย่างเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มขยายตัวระดับใกล้เคียงปีก่อน ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าด้วยทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐอเมริกา ปี 2562  ประกอบกับแนวโน้มราคาส่งออกสินค้าเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าว น้ำตาลทราย   แป้งมันสำปะหลัง และสับปะรดกระป๋อง รวมทั้งการขยายตัวต่อเนื่องของสินค้าสำคัญ เช่น ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูป และทูน่ากระป๋อง นอกจากนี้ คาดว่าสินค้าสำคัญอีกรายการที่จะกลับมาขยายตัว คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง 
  4. อุตสาหกรรมสิ่งทอ และเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2561 โดยเฉพาะเส้นใยสังเคราะห์ และเส้นใยสมบัติพิเศษ
  5. อุตสาหกรรมเหล็ก คาดว่าการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับเพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและกลุ่มเหล็กทรงแบน จากคำสั่งซื้อที่ปรับเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ผลจากการก่อสร้างที่ขยายตัวตามแรงสนับสนุนของภาครัฐ และการขยายตัวของการก่อสร้างที่อยู่อาศัยของภาคเอกชน  โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า

 

 

อ่านต่อ
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม กันยายน 2561