ดัชนีความเชื่อมั่น มกราคม 2562

อัปเดตล่าสุด 22 ก.พ. 2562
  • Share :

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนมกราคม 2562 จำนวน 1,207 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 28.8, 34.8 และ 36.4 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 37.6, 16.2, 13.0, 20.5 และ 12.7 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.1 และ 19.9 ตามลำดับ

โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 93.2 ในเดือนธันวาคม โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

จากการสำรวจ พบว่า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าการใช้จ่ายทั้งจากการบริโภคภายในประเทศ และการใช้จ่ายภาครัฐผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่รวมทั้งการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและภาคการผลิตโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาค สะท้อนจากดัชนีปริมาณการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า

อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าของเงินบาท และภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงโดยเฉพาะการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ทำให้การส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัว รวมทั้งต้นทุน ที่เพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลต่อการขยายการลงทุนของผู้ประกอบการ ซึ่งความกังวลดังกล่าวสะท้อนผ่านไปยังดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง มาอยู่ที่ระดับ 104.1 จาก 105.9 ในเดือนธันวาคม

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนมกราคม 2562 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2561ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2561 โดยมีรายละเอียดดังนี้

อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 76.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 75.8 ในเดือนธันวาคม 2561 โดยองค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมหล่อโลหะ, อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.0 ปรับตัวลดลง จากระดับ 99.7 ในเดือนธันวาคม 2561  องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 92.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.6  ในเดือนธันวาคม 2561 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์,อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์, อุตสาหกรรมน้ำตาล เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.5 ปรับตัวลดลง จากระดับ 106.9 ในเดือนธันวาคม 2561 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 109.2 ปรับตัวลดลง จากระดับ 112.8 ในเดือนธันวาคม 2561 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่  ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น, อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 111.1 ในเดือนธันวาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนมกราคม 2562 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2561 ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯของภาคเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม 2561โดยมีรายละเอียดมีดังนี้
 

ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562  อยู่ที่ระดับ 97.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 96.9 ในเดือนธันวาคม 2561 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมพลาสติก (บรรจุภัณฑ์พลาสติกและเครื่องใช้ในครัวเรือน ถุงพลาสติก กระสอบพลาสติก ฟิล์มพลาสติก มีการผลิตเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน)
  2. อุตสาหกรรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อาหาร ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม   มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐฯ และเวียดนาม)
  3. อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (กล่องกระดาษลูกฟูก กล่องสำหรับบรรจุสินค้า มียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปัจจุบันมีการซื้อสินค้าผ่าน e - Commerce มากขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความต้องการใช้กล่องเพิ่มขึ้น)

อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

  1. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (สินค้าบำรุงสุขภาพ วิตามินเสริมอาหาร มียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดอาเซียนและจีน)

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.8 ปรับตัวลดลง จากระดับ 109.5 ในเดือนธันวาคม 2561 องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ

ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 76.5 ปรับตัวลดลง จากระดับ 78.2 ในเดือนธันวาคม 2561 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมเซรามิก (การผลิตกระเบื้องปูพื้นและแผ่นเซรามิก ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากผู้ประกอบการมีสต็อคสินค้าปริมาณสูง และลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อ ขณะเดียวกันกระเบื้องปูพื้นบุผนังมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดยุโรป)
  2. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ชะลอตัวลง ด้านการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)
  3. อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (กระดาษที่ใช้ในสำนักงาน กระดาษคราฟต์ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าปริมาณสูง ผลิตภัณฑ์กระดาษสา ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ลดลง)

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

  1. อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์เส้นใยโพลีเอสเตอร์และเส้นใยสิ่งทอ มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเส้นใยประดิษฐ์และผ้าผืน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 98.6 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 91.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 90.0 ในเดือนธันวาคม 2561 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่    

  1. อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (หินอ่อน หินประดับ อิฐมวลเบา อิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง           มียอดขายในประเทศตามความต้องการใช้ในธุรกิจก่อสร้าง)
  2. อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ด้านการส่งออกน้ำตาลทรายมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน)
  3. อุตสาหกรรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ที่ใช้ในงานก่อสร้าง และปูนซิเมนต์ มีการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในภาคก่อสร้าง และโครงการภาครัฐ)

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

  1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ฮาร์ดดิสไดรฟ์ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศสหรัฐฯ และเอเชีย )

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 101.5 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 113.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 112.5 ในเดือนธันวาคม 2561 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ มีการผลิตเพิ่มขึ้น มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และการปรับปรุงที่อยู่อาศัย ด้านการส่งออกเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และอาเซียน)
  2. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติก โพรพิลีนและเอทิลีน มีคำสั่งซื้อจากประเทศจีน และอาเซียนเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น)
  3. อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศ ด้านการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย)

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

  1. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (อัญมณีและเครื่องประดับมีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศเยอรมนี และฮ่องกง ขณะที่เครื่องประดับเงินมียอดขายในประเทศลดลง)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 111.4 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 76.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.4 ในเดือนธันวาคม 2561 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูปมีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง จากอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ ด้านการส่งออกไม้ยางพาราแปรรูปมีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีน) อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะแลแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศสหรัฐฯ และออสเตรเลีย เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าชะลอตัว ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศสหรัฐฯ และยุโรป)
  2. อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบมียอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อจากมาเลเซียลดลง)

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

  1. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยางทางการแพทย์ ยางรัดของ ยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.5 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนมกราคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2561ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนธันวาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 90.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 88.7 ในเดือนธันวาคม 2561องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และ ผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.7 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมกราคม 2562 อยู่ที่ระดับ 109.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 112.6 ในเดือนธันวาคม 2561 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม,อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 106.5 ในเดือนธันวาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

  1. เสนอให้ภาครัฐเร่งเจรจาการค้าเสรี FTA เพื่อขยายตลาดการค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และรับมือกับผลกระทบจากสงครามการค้า
  2. เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ พร้อมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ในการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล

อ่านต่อ
ดัชนีความเชื่อมั่น ธันวาคม 2561