ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พฤศจิกายน 2562

อัปเดตล่าสุด 27 ธ.ค. 2562
  • Share :
  • 644 Reads   

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.27 อยู่ที่ระดับ 96.77 โดยอัตราการใช้กำลังการผลิตปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 63.17 คาด GDP ภาคการผลิตปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2-3 เมื่อเทียบกับปี 2562

นายทองชัย  ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤศจิกายน 2562 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.27 อยู่ที่ระดับ 96.77 โดยอยู่ในระดับทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากผลกระทบจากสงครามทางการค้าทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง เมื่อดูจากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2562 อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน ส่งผลต่อเนื่องมายังการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ) ในเดือนพฤศจิกายน หดตัวลงร้อยละ 6.37 สำหรับ การผลิตที่หดตัวลงส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่นน้ำมัน 2 โรง โดยหากได้จำลองสถานการณ์การผลิตของโรงกลั่นที่ปิดซ่อมบำรุงดังกล่าวให้มีการดำเนินการผลิตเป็นปกติเท่ากับเดือนก่อนหน้าจะส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวลงเพียงร้อยละ 6.11 ซึ่งการปิดซ่อมเป็นไปตามแผนงานในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในอนาคต นอกจากนี้ยังมีโรงกลั่นน้ำมันรายใหญ่อยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตซึ่งจะรองรับความต้องการของตลาดที่มีแนวโน้มขยายตัวในปีหน้า รวมถึงให้เป็นไปตามข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม อาชีวอนามัยและความปลอดภัย สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนพฤศจิกายน 2562 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ น้ำมันปิโตรเลียม ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ น้ำมันปาล์ม และเหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน 

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนลดลง ได้แก่

รถยนต์ และเครื่องยนต์ การผลิตลดลงร้อยละ 21.59 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก ทำให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศลดลง ประกอบกับกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง ส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อ

น้ำมันปิโตรเลียม การผลิตลดลงร้อยละ 18.50 จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่นน้ำมันจำนวน 2 ราย ส่งผลให้การผลิตปรับตัวลดลง

ผลิตภัณฑ์ยางอื่น ๆ การผลิตลดลงร้อยละ 11.10 จากการผลิตยางแผ่น และยางแท่งลดลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากค่าเงินบาทที่ทำให้ผู้ผลิตบางรายชะลอการผลิตเนื่องจากรายได้ที่เป็นเงินบาทลดลง


อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายนขยายตัว ได้แก่

เครื่องปรับอากาศ และชิ้นส่วน การผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.19 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาซึ่งจะมีการส่งมอบในไตรมาสแรกของปี 2563 ประกอบกับตลาดในประเทศยังขยายตัวได้ดี

เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.07 เนื่องจากในปีนี้มีการผลิตกลับมาเป็นปกติจากที่เดือนพฤศจิกายนในปีก่อนมีการหยุดซ่อมบำรุงของผู้ผลิตหลายราย

เบียร์ การผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.29 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่มีความหลากหลายและตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน

ทั้งนี้ สถานการณ์การผลิตอยู่ในระดับภาวะทรงตัว ถึงแม้ว่าจะมีปัจจัยที่ส่งผลลบจากภายนอกก็ตาม โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.76 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า นอกจากนี้ อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับ 63.17 ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับข้อมูลจำนวนเงินลงทุนในกิจการใหม่และขยายกิจการของกรมโรงงานอุตสาหกรรมในช่วงมกราคม – วันที่ 24 ธันวาคม 2562 มีมูลค่า 471,118 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญที่มีมูลค่า 366,802 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะส่งผลบวกต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมในอนาคต สำหรับในปี 2563 สศอ. ได้รับการจัดสรรงบบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและบริการแห่งอนาคตจำนวน 1,200 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อาหารแห่งอนาคต ดิจิทัล หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และอุตสาหกรรม/บริการทางการแพทย์ ซึ่งจะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม โดย สศอ. ได้คาดการณ์ GDP ภาคการผลิตในปี 2563 จะขยายตัวร้อยละ 1.5 – 2.5 และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 2-3 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ที่มา: กองสารสนเทศและดัชนีเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ข้อมูล ณ วันที่ 25 ธันวาคม 2562 

 

อ่านต่อ:
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ตุลาคม 2562