ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม พฤษภาคม 2562
สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2562 หดตัวลงร้อยละ 3.99 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลกระทบจากแนวโน้มการค้าโลกที่ชะลอตัวต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ย. 2561 ที่เป็นปัจจัยภายนอก
นายณัฐพล รังสิตพล ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคม 2562 ได้รับผลกระทบจากแนวโน้มมูลค่าการส่งออกโลกที่ชะลออย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2561 โดยมูลค่าการส่งออกโลกในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึง เมษายน 2562 หดตัวร้อยละ 1.01 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ MPI ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 ถึงพฤษภาคม 2562 หดตัวร้อยละ 0.63 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม หดตัวลงร้อยละ 3.99 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.63 เมื่อเทียบจากเดือนก่อน โดยอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลลบต่อดัชนี MPI เดือนพฤษภาคม 2562 ได้แก่ ปุ๋ยเคมี รถยนต์ และเครื่องยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องประดับแท้ และ Hard Disk Drive สาเหตุหลักมาจากความต้องการบริโภคภายในประเทศและคำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศชะลอตัวลง ในขณะที่อุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน น้ำมันปาล์ม เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม เบียร์ เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน
อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนพฤษภาคมมีการขยายตัว ได้แก่
เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.77 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากตลาดในประเทศเนื่องจากสภาพอากาศร้อนจัดและการเร่งทำตลาดของผู้ผลิตโดยเฉพาะชนิดอินเวอร์เตอร์ และตลาดส่งออกได้รับคำสั่งซื้อจากประเทศเวียดนาม อินโดนีเซียและญี่ปุ่น รวมถึงอินเดียที่เป็นลูกค้าใหม่
น้ำมันปาล์ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.91 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบ ที่ได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายน้ำมันปาล์มของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และน้ำดื่ม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.48 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากน้ำอัดลม น้ำดื่มให้พลังงาน และน้ำดื่มบริสุทธิ์ ได้อานิสงส์จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด รวมถึงผู้ผลิตออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ และการทำกิจกรรมส่งเสริมการขาย รวมถึงการขยายตลาดในประเทศจีนและเวียดนาม
เบียร์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน การปรับเปลี่ยนรูปแบบและขนาดบรรจุภัณฑ์ใหม่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ที่ลดลง รวมถึงการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ที่ขยายตัว
เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.40 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนจากผลิตภัณฑ์เหล็กแผ่นรีดร้อนที่กลับมาผลิตปกติหลังจากผู้ผลิตหยุดผลิตชั่วคราว และผลิตภัณฑ์เหล็กเส้นชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะเหล็กเส้นกลมและเหล็กเส้นข้ออ้อย ได้มีการเร่งผลิตชดเชยการหยุดซ่อมบำรุงในเดือนก่อนของผู้ผลิต
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและการใช้กำลังการผลิต
Index | 2561 | 2562 | |||||||||||
พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค.* | |
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม | 107.98 | 106.38 | 103.41 | 105.22 | 102.34 | 104.54 | 105.49 | 103.52 | 108.40 | 105.56 | 115.55 | 95.44 | 103.68 |
อัตราการเปลี่ยนแปลง (MOM) % | 14.88 | -1.49 | -2.79 | 1.74 | -2.73 | 2.15 | 0.91 | -1.86 | 4.71 | -2.62 | 9.46 | -17.40 | 8.63 |
อัตราการเปลี่ยนแปลง (YOY) % | 4.89 | 4.89 | 4.83 | 2.31 | -0.08 | 5.75 | 0.85 | 1.19 | 0.56 | -1.26 | -2.66 | 1.54 | -3.99 |
อัตราการใช้กำลังการผลิต | 71.06 | 70.69 | 68.68 | 69.11 | 68.18 | 69.99 | 70.30 | 67.56 | 70.46 | 69.07 | 74.25 | 63.62 | 67.72 |