ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เมษายน 2562

อัปเดตล่าสุด 24 พ.ค. 2562
  • Share :
  • 610 Reads   

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนเมษายน 2562 จำนวน 1,213 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภา-อุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 30.2, 38.9 และ 30.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 35.7, 17.6, 15.6, 20.3 และ 10.8 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 81.8 และ 18.2 ตามลำดับ


โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 96.3 ในเดือนมีนาคม โดยเป็นการปรับตัวลดลง ในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

จากการสำรวจ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า และเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 4 เดือน สาเหตุจากผู้ประกอบการได้เร่งการผลิตไปในช่วงเดือนก่อนหน้าเพื่อชดเชยการผลิตในเดือนเมษายนที่มีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อกำลังซื้อที่ลดลงโดยเฉพาะในส่วนภูมิภาคเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งการส่งออกที่หดตัวอันเนื่องมาจากการชะลอตัวของการค้าโลก นอกจากนี้ผู้ประกอบการมีความกังวลเกี่ยวกับการเมืองในประเทศ และต้องการให้มีความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้มีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจทั้งด้านการค้าและการลงทุน

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 101.9 โดยลดลงจาก 104.2 ในเดือนมีนาคม เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ความผันผวนของค่าเงินบาทที่มีผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการส่งออก รวมทั้งปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ
ที่กระทบต่อการส่งออกของไทย

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนเมษายน 2562 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม
โดยมีรายละเอียดดังนี้

อุตสาหกรรมขนาดย่อม 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 82.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 78.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมหล่อโลหะ อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บาง และวัสดุแผ่น เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 95.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 96.0 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.8 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ


อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 108.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 109.6 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมพลาสติก เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 110.9 ในเดือนมีนาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาคประจำเดือนเมษายน 2562 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกภูมิภาคปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม 2562 โดยมีรายละเอียดมีดังนี้

ภาคกลาง 
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 99.0 ในเดือนมีนาคม 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (กล่องกระดาษลูกฟูก กล่องสำหรับบรรจุสินค้ามีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าปริมาณสูง และปริมาณการผลิตลดลง เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์)
  • อุตสาหกรรมพลาสติก (สินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเครื่องใช้ในครัวเรือน มียอดขายใน ประเทศลดลง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดจีนและอาเซียน)
  • อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากมีวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้ความต้องการใช้ในการก่อสร้างลดลง)

อุตสาหกรรมในภาคกลาง ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

  • อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง รถกระบะเชิงพาณิชย์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลดีจากงานมอเตอร์โชว์ 2019 และผู้ประกอบการมีกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อจูงใจลูกค้า ขณะที่การส่งออกไปยังตลาดเวียดนามและอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น)

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.7 ในเดือนมีนาคม 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคเหนือ 
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 80.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 81.3 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมสิ่งทอ (เส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืน มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศเวียดนาม และสหรัฐฯ เส้นใยโพลีเอสเตอร์ มีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง การผลิตลดลง เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในเทศกาลสงกรานต์)
  • อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาด CLMV)
  • หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าหัตถกรรม เครื่องเคลือบและของที่ระลึก เช่น ผ้าผันคอ กระเป๋าผ้า ของที่ระลึกต่างๆ ผลิตภัณฑ์ประเภทจักสาน มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง) 

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปไม้และเหล็ก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ด้านการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น) 

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 92.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.0 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ


ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 93.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 94.7 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลเกษตร (เครื่องมือเกษตร เครื่องเกี่ยวนวดข้าว มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงหน้าแล้ง เกษตรกรมีความต้องการใช้สินค้าลดลง) 
  • อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารชะลอตัวลง ด้านการส่งออกน้ำตาลทรายมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดไต้หวันและกัมพูชา)
  • อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์หินอ่อน หินประดับ อิฐมวลเบา อิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากงานก่อสร้างลดลงในช่วงวันหยุดสงกรานต์ ขณะที่การผลิตมีปริมาณลดลง) 

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเสื้อผ้ากีฬา มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเสื้อกันหนาวมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากญี่ปุ่น และยุโรป)
  • ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.1 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 110.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 111.9 ในเดือนมีนาคม 2562  องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ


อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติกประเภท Polyethylene resin (PE) Polypropylene resin (PP) มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีนตามความต้องการสินค้าที่ชะลอลง ขณะที่ปริมาณการผลิตลดลงเนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์)
  • อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (สินค้าประเภทอัญมณี มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดสหรัฐฯ สิงคโปร์และฮ่องกง สินค้าเครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทองมียอดการส่งออกไปเยอรมันและสหรัฐฯ ลดลง) 
  • อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศลดลง และส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากประเทศ  คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อและผลกระทบสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ทำให้จีนนำเข้าเครื่องจักรลดลง)

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อนทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น คอมเพรสเซอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศ มีคำสั่งซื้อจากตลาดในประเทศและส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.4 ลดลงจากระดับ 114.2 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ


ภาคใต้  ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 80.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 81.9 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูป มีคำสั่งซื้อในประเทศและส่งออกไปยังประเทศจีนลดลง ขณะที่ปริมาณการผลิตลดลง เนื่องจากมีวันหยุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์)
  • อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบมีคำสั่งซื้อในประเทศลดลง ประกอบกับลูกค้ามีสต๊อกสินค้าปริมาณสูง ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศมาเลเซียและอินเดีย)
  • อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือแพทย์ หลอดฉีดยา        มีคำสั่งซื้อลดลงจากโรงพยาบาล เนื่องจากมีการสต๊อกสินค้าไว้ปริมาณสูงจากเดือนก่อนหน้า ด้านการส่งออก มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
ผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยางและถุงมือตรวจโรค มีคำสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นจากโรงพยาบาล ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ และจีน)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 100.4 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนเมษายน 2562 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศและกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนมีนาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.6 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ    ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และ    ผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรม การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมรองเท้า เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.2 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) 
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนเมษายน 2562 อยู่ที่ระดับ 105.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ107.1 ในเดือนมีนาคม 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.3 ในเดือนมีนาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2562 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยนและสถานการณ์การเมืองในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราดอกเบี้ยเงินกู้

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

  • สนับสนุนแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งปรับหลักเกณฑ์ในการให้กู้เงินของธนาคาร  ให้เหมาะสมและมีความคล่องตัวมากขึ้นเพื่อเพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของ SMEs
  • ปรับลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตของหน่วยงานภาครัฐ โดยเร่งรัดโครงการ Regulatory Guillotine

 

อ่านต่อ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีนาคม 2562