ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม สิงหาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 321 Reads   

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561  ที่ผ่านมา นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนสิงหาคม 2561 จำนวน 1,127 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 92.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.2 ในเดือนกรกฎาคม

ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่ลดลงเกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

จากการสำรวจ พบว่า ในเดือนสิงหาคม ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากปัจจัยด้านฤดูกาล เนื่องจากในช่วงเดือนสิงหาคมมีฝนตกต่อเนื่องและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้กระทบต่อกำลังซื้อในส่วนภูมิภาคส่งผลให้ยอดขายชะลอตัวลง โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าไม่คงทนและกลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง ขณะที่ต้นทุนประกอบการเพิ่มขึ้นตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและวัตถุดิบ รวมทั้งความกังวลของผู้ส่งออกที่มีต่อมาตรการภาษีนำเข้าของประเทศสหรัฐฯ 

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และค่าดัชนีฯ มีค่าเกิน 100


ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.5 ในเดือนกรกฎาคม สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีมุมมองต่อการดำเนินกิจการใน 3 เดือนข้างหน้าอยู่ในระดับที่ดีขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากคำสั่งซื้อและการผลิตสินค้าเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี 

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนสิงหาคม 2561 จากการสำรวจ พบว่า   ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลางและภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม โดยมีรายละเอียดมีดังนี้ 


อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมพลาสติก (ถุงพลาสติกและฟิล์มพลาสติก และบรรจุภัณฑ์พลาสติก เครื่องใช้ในครัวเรือน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน)
  2. อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง รถกระบะเชิงพาณิชย์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง การส่งออกมีคำสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชียและยุโรป)
  3. อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม บรรจุภัณฑ์อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากยุโรป)

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ 

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

  • อุตสาหกรรมสมุนไพร (ยาสมุนไพร เครื่องดื่มสมุนไพร มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น การส่งออกมีคำสั่งซื้อสมุนไพรสำหรับทำสปาจากตลาด CLMV เพิ่มขึ้น)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ  95.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก ขณะที่โทรศัพท์มือถือมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ชิ้นส่วนยานยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซียและเวียดนาม อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น)
  • อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (เม็ดพลาสติก Polyethylene resin PE มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดจีน สารพอลิเมอร์ เมทิลเมทาคริเลต มีคำสั่งซื้อจากในประเทศเพิ่มขึ้น)
  • อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กทรงแบนและเหล็กทรงยาว มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐและอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 112.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 111.3 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  • อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกับผู้ประกอบการมีต้นทุนการผลิตลดลง)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.1 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ


ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

ขอให้ภาครัฐดูแลค่าเงินบาทให้สอดคล้องกับประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เสียเปรียบกับประเทศคู่แข่งทางการค้าของไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก


อ่านต่อ    ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม กรกฎาคม 2561