แนวโน้มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2020 สดใส อานิสงค์นักลงทุนต่างชาติเลือกไทยเป็นฐานการผลิตและการค้า

อัปเดตล่าสุด 28 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 938 Reads   
นายกฤษดา ทรัพย์ทวยชน รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงแนวโน้มและภาวะอุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคม ในช่วงเดือนมกราคม - กันยายน 2019 มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกแยกผลิตภัณฑ์ ดังนี้
 
  • เครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าส่งออก 576,005 ล้านบาท   ขยายตัวลดลง -2.15 %
  • อิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าส่งออก 822,068 ล้านบาท ขยายตัวลดลง -11.36 % 
 
ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ส่งออกหลักที่ยังคงมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น อาทิ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ ขยายตัว 8.6 % แผงสวิตซ์แผงควบคุมกระแสไฟฟ้าฯ ขยายตัว 4.16% ตู้เย็นขยายตัว 2.20 %
 
  • ตลาดส่งออกหลักเครื่องใช้ไฟฟ้าฯ ได้แก่ ญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.68 % US ขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.73 %  
  • ตลาดส่งออกหลักอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ US ขยายตัวลดลง - 8.39 % ฮ่องกงขยายตัวลดลง -13.85 %  
 
คาดการณ์ส่งออกปี 2019  ทั้งปีคาดว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์จะขยายตัวลดลง -3.24 % (เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ - 0.27 %  และอิเล็กทรอนิกส์ - 6.20 %)
 
ถึงแม้ว่ายอดส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2019 คาดว่าจะขยายตัวลดลง    แต่ยังมีโอกาสของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจากสภาวะสงครามการค้า
 
จากการสำรวจของ SCMP หรือ South China Morning Post พบว่า
 
  • 72 % ของบริษัทที่มี Supply Chain Sourcing ในจีนกำลังย้าย Sourcing ออกจากจีน 
  • 77 % ของบริษัทที่มี Supply Chain Sourcing ในสหรัฐอเมริกาก็กำลังจะย้าย Sourcing ออกจากสหรัฐอเมริกา 
  • 70 % ของบริษัทสหรัฐฯ ที่มีฐานการผลิตในจีน กำลังจะย้ายออกจากจีน 
  • 60 % ของบริษัทจีนที่มีฐานการผลิตในสหรัฐฯ กำลังจะย้ายออกจากสหรัฐฯ 
  • 67 % ของบริษัทที่จะลงทุนในจีนยกเลิกหรือเลื่อนการลงทุน 
  • 66 % ของบริษัทที่จะลงทุนในสหรัฐฯ ก็ทำเช่นเดียวกัน 
 
 
นายกฤษดา กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ เป้าหมายใหม่ในการลงทุนและการซื้อวัตถุดิบซึ่งจะมาแทนที่ทั้งในสหรัฐอเมริกาและจีนนั้นกำลังจะย้ายไปที่ “เอเซียตะวันออกเฉียงใต้” เป็นหลัก โดยประเทศที่ถูกมองเป็นเป้าหมายอันดับแรก ๆ คือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา
 
แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภคและทักษะแรงงานระดับสูง ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ ยังไม่มั่นใจนัก เมื่อโอกาสทองมาถึง รัฐบาลและภาคเอกชนก็ควรจะต้องปรับตัวและวางยุทธศาสตร์ เชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อช่วงชิงส้มหล่นมูลค่ามหาศาลนี้ต่อไป ปัจจุบันการผลิตที่จะย้ายมานั้นไม่ใช่การผลิตประเภทใช้แรงงานเป็นหลักอีกต่อไป 
 
อ้างอิงข่าวที่เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า นโยบาย 3 แพ็คเกจใหม่รีโลเกชั่น ดังนี้
 
1. แพ็คเกจรีโลเกชั่นหรือมาตรการสำหรับดึงการลงทุนจากประเทศที่เลือกไทยเป็นเป้าหมาย โดยไม่ใช่เรื่องของสิทธิประโยชน์ด้านภาษีอย่างเดียว แต่จะมีเครื่องมือจากหน่วยงานอื่นๆ เพิ่มเติม 
2. BOI จะตั้งทีมเฉพาะกิจเพื่อดึงนักลงทุนที่กำลังจะย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย รวมถึงนักลงทุนที่จะไปลงทุนในประเทศอื่นๆ ตอนนี้ได้จัดทำรายชื่อไว้ 100 บริษัท โดยทีมเฉพาะกิจจะมอบหมายให้   รองเลขาฯ BOI รับผิดชอบ
3. การจัดกิจกรรมการตลาดด้วยการ Road Show ที่ประเทศจีน ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป โดยจะดึงภาคเอกชนและสถาบันการเงินเข้าร่วม เพื่อสนับสนุนแหล่งเงินทุน และเร่งรัดขั้นตอนการอนุมัติและอนุญาตให้เร็วขึ้น
 
“ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาทในปีนี้ จะพยายามทำให้ได้ ที่จะหมดอายุ คือ มาตรการ EEC กับ SMEs กำลังพิจารณาจะต่อมาตรการหรือปรับเงื่อนไขอยู่ ส่วนมาตรการปีแห่งการลงทุน 2562 จะไม่ต่ออายุอีก” 
 
นายกฤษดา กล่าวต่อว่า ดังนั้น ถึงแม้ว่าสภาวะการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในปี 2019 จะมีแนวโน้มลดลง สืบเนื่องจากสภาวะตลาดโลกที่ชะลอตัวและภาวะ Trade War ความไม่แน่นอนการสั่งซื้อของตลาดโลก ฯลฯ แต่อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังคงเป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งออกเป็นอันดับ 1 ของประเทศ ซึ่งยังมีโอกาสของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจากสภาวะสงครามการค้า กล่าวคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกลับเป็นปัจจัยภายนอกเกื้อหนุนให้นักลงทุนจากสหรัฐอเมริกา และจากสหภาพยุโรป หันมาใช้ไทยเป็นฐานการผลิตและฐานการลงทุน มีการขยายการค้าการร่วมมือระหว่างนักลงทุนต่างชาติและผู้ประกอบการไทย ลูกค้าจากสหรัฐและยุโรปหันมา Sourcing ชิ้นส่วนและผลิตภัณฑ์จากไทยมากขึ้น โอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางทางการค้าใน South East Asia ด้วยภูมิศาสตร์ทางกายภาพ และการเปิดเสรีทางการค้า RCEP (FTA Asean+6) ยิ่งสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการผลิตมากขึ้น แนวโน้มน่าจะสดใสในปี 2020 ทั้งนี้จากการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติที่มีแนวโน้มน่าจะเพิ่มขึ้นในปีหน้า เรื่องปัจจัยค่าแรงอาจจะไม่ใช่ปัจจัยหลักในการเข้ามาลงทุน แต่ปัจจัยด้านการกระจายความเสี่ยง เป็นปัจจัยหลักที่ นักลงทุนจะเลือกไทยเป็นฐานการผลิตและการค้า จึงถือได้ว่าในปี 2020 จะเป็นโอกาสทองของผู้ผลิตและผู้ประกอบการไทย
 
นอกจากนี้การสนับสนุนจากภาครัฐยังมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ ในยุคที่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่ Smart Industry การจัดซื้อของภาครัฐควรให้ความสำคัญกับสินค้าและอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตได้ในประเทศเป็นหลัก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมในประเทศ ให้มีศักยภาพแข่งขันได้ต่อไป 
 
“แม้โอกาสจะดูมีแนวทางสดใสแต่ก็ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยงานรัฐในการอำนวยความสะดวกทั้งในด้านการลงทุน และความรวดเร็วด้านพิธีการศุลกากร” นายกฤษดา กล่าว