ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม ตุลาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 22 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 415 Reads   
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ประจำเดือนตุลาคม 2561 จำนวน 1,207 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในตุลาคม 2561 อยู่ที่ระดับ 92.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 91.5 ในเดือนกันยายน
 
ทั้งนี้ค่าดัชนีฯที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
จากการสำรวจพบว่า ในเดือนตุลาคม ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดใหญ่ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยบวกจากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายในช่วงปลายปี ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงในเดือนที่ผ่านมา ส่งผลดีต่อต้นทุนการขนส่ง ประกอบกับในเดือนตุลาคมได้ผ่านพ้นช่วงฤดูมรสุมทำให้การขนส่งสินค้าทางเรือไปต่างประเทศได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังพบว่าการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการโดยเฉพาะขนาดย่อมยังมีความกังวลต่อต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นและปัญหาสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ นอกจากนี้สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ยังไม่คลี่คลาย อีกทั้งเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคและในกลุ่มประเทศ Emerging Market หรือตลาดเกิดใหม่ที่เป็นคู่ค้าและคู่แข่งของไทย เป็นปัจจัยที่ผู้ประกอบการส่งออกมีความกังวลและต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 106.7 เพิ่มขึ้นจาก ระดับ 106.1 ในเดือนกันยายน สะท้อนความเชื่อมั่นในอนาคตอยู่ในระดับที่ดี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เดินหน้าอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2562 คาดว่าส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
 
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนตุลาคม 2561 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนสิงหาคม ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 
  1. อุตสาหกรรมพลาสติก (สินค้าประเภทถุงพลาสติก ฟิล์มพลาสติก และกระสอบพลาสติก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเครื่องใช้ในครัวเรือน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 109.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 109.0 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ 
 
อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 
  1. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปประเภทไม้ และเหล็ก มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย และจัดงานแสดงสินค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย ด้านการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์  มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ, ญี่ปุ่น และยุโรป)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 95.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 95.3 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
  1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ขณะที่โทรศัพท์มือถือมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากงาน Thailand Mobile Expo 2018)
  2. อุตสาหกรรมสิ่งทอ (เส้นใยสิ่งทอ และเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เวียดนาม)
  3. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (คอนกรีตผสมเสร็จ มียอดขาย และคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.4 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
  1. อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ชิ้นส่วนยานยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และจีน ขณะที่อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามการ-ขยายตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์)
  2. อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น)
  3. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (สินค้าประเภทเครื่องประดับทอง และอัญมณี มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากในประเทศ และตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ, เยอรมนี และฮ่องกง)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.7 เพิ่มขึ้นจากระดับ 112.3 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
  1. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยางทางการแพทย์ ถุงยางอนามัย ล้อยางรถยนต์ มีคำสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 106.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 105.1 ในเดือนสิงหาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
  • ขอให้ภาครัฐคงมาตรการในการดูแลราคาน้ำมันดีเซล ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนการขนส่งของผู้ประกอบการ
  • เสนอให้ภาครัฐใช้ประโยชน์จากสงครามการค้าในการเชิญนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ และให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับแรงงานไทย
 
อ่านต่อ