ความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม กรกฎาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 21 ส.ค. 2561
  • Share :
  • 323 Reads   

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมา นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนกรกฎาคม 2561 จำนวน 1,012 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรม ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2561 อยู่ที่ระดับ  93.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 91.7 ในเดือนมิถุนายน โดยค่าดัชนีฯ สูงสุดในรอบ 62 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2556 ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น เกิดจากองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ  

จากการสำรวจ พบว่า ในเดือนกรกฎาคม ผู้ประกอบการเห็นว่ากำลังซื้อภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นโดยเฉพาะภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนียอดคำสั่งซื้อและยอดขายที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภูมิภาค ส่งผลดีต่อการบริโภคสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เครื่องจักรกลและโลหะการ และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีความต้องการสินค้าไทยของประเทศเพื่อนบ้านผ่านการค้าชายแดน รวมทั้งการส่งออกของไทยไปยังประเทศคู่ค้ายังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการอ่อนค่าของเงินบาทส่งผลดีต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อราคาน้ำมันที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งกระทบต่อต้นทุนประกอบการ ภาวะน้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อระบบคมนาคมขนส่ง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังต้องติดตามและเตรียมแผนรองรับกับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่างๆ                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.7 ในเดือนมิถุนายน เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นเพื่อส่งมอบในช่วงปลายปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากเศรษฐกิจภายในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณขยายตัวดีต่อเนื่อง
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกรกฎาคม 2561 จากการสำรวจ พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนมิถุนายน โดยมีรายละเอียดมีดังนี้

อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมอาหาร (อาหารทะแลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผักผลไม้แช่แข็ง อาหารปรุงรสมี คำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อาหารสดและอาหารสำเร็จรูป และเครื่องดื่ม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นโดยได้รับผลดีจากช่วงวันหยุดต่อเนื่องช่วงวันเข้าพรรษา ทำให้ความต้องการสินค้าในกลุ่มอาหารเพิ่มขึ้น)
  2. อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง รถกระบะเชิงพาณิชย์ รถ SUV และ PPV และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง การส่งออกมีคำสั่งซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้นจากตลาดเอเชียแปซิฟิก และอเมริกาใต้)
  3. อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากในประเทศ จากอุตสาหกรรมยานยนต์ และไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าประเภทกระป๋อง ขวด อลูมิเนียมมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม)

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ


อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. หัตถอุตสาหกรรม (สินค้าหัตถกรรม กระเป๋าจักสาน เครื่องเคลือบและของที่ระลึก มียอดขายในประเทศลดลง)ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 92.9 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ


อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่            

  1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ Hard Disk Drive มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ ตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก ส่วนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น)
  2. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป มีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้นการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้ากีฬา และชุดชั้นในมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศสหรัฐ,อาเซียน และยุโรป)
  3. อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม การส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาด CLMV)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 101.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.8 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการในประเทศที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่น อินโดนีเซียและเวียดนาม)
  2. อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น และส่งออกไปตลาดอาเซียน และญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น)
  3. อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ครีมบำรุงผิว มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ตรงตามความต้องการของลูกค้า        การส่งออกเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิวมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและตลาด CLMV)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 111.3  เพิ่มขึ้นจากระดับ 109.1 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

  1. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ยางแผ่นรมควัน ถุงมือยางทางการแพทย์ มีคำสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐฯ)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 103.5 ในเดือนมิถุนายน องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกรกฎาคม 2561 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองในประเทศ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน
        
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

  1. ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพแรงงานด้านเทคโนโลยี เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve และ New S-curve เพื่อรองรับระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) 
  2. เจรจาเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการค้ากับประเทศที่เป็นตลาดส่งออกเดิม เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน และรักษาตลาดเดิมไว้
  3. เปิดเจรจาการค้าเสรี FTA กับตลาดใหม่เพื่อรับมือสงครามการค้า ที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดส่งออกเดิม