สภาอุตฯ เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม สิงหาคม 2562

อัปเดตล่าสุด 20 ก.ย. 2562
  • Share :
  • 394 Reads   

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2562 จำนวน 1,207 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 28.0, 37.2 และ 34.8 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 36.0, 14.7, 14.2, 23.9 และ 11.2 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 78.9 และ 21.1 ตามลำดับ

โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 92.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.5 ในเดือนกรกฎาคม โดยเป็นการปรับตัวลดลง ในองค์ประกอบยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

จากการสำรวจ พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคมปรับตัวลดลง มีสาเหตุจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศที่ชะลอตัว เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่าย รวมทั้งภาวะการแข่งขันสูง ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก ขณะเดียวกันช่วงปลายเดือนสิงหาคมได้เกิดพายุฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้กระทบต่อการคมนาคมขนส่งโดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศ จากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศที่ยังคงยืดเยื้อ ยังเป็นความกังวลต่อเนื่องของผู้ประกอบการส่งออก

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 102.9 โดยเพิ่มขึ้นจาก 102.3 ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้ผู้ประกอบการคาดว่าในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2562 จะมีการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายและเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่มากขึ้น รวมทั้งผลจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศของภาครัฐจะส่งผลดีต่อยอดขายและยอดคำสั่งซื้อของผู้ประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนสิงหาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้

อุตสาหกรรมขนาดย่อม

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 77.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.0 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร, อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 94.0 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดกลาง

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 91.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.8 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ,อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 103.5 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมขนาดใหญ่

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 107.3 ปรับตัวลดลง จากระดับ 107.8 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมเหล็ก, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 107.9 ในเดือนกรกฎาคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนสิงหาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม โดยมีรายละเอียดมีดังนี้ 

ภาคกลาง 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 93.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 94.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

อุตสาหกรรมยานยนต์ (รถยนต์นั่ง รถ SUV มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้บริโภคชะลอ การสั่งซื้อรถยนต์ใหม่จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกลดลงในตลาดออสเตรเลีย อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์)

อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิวมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดจีนและ CLMV)

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนทำให้ภาคการก่อสร้างชะลอ ขณะที่ปูนซีเมนต์ผงและปูนเม็ด มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศกัมพูชา จีน และบังคลาเทศ)

อุตสาหกรรมในภาคกลาง ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (สินค้าประเภทกล่องกระดาษลูกฟูก กล่องสำหรับบรรจุสินค้ามีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ตามต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม บรรจุภัณฑ์กระดาษมียอดขายเพิ่มขึ้น ตามการขยายตัวของการขายสินค้าผ่านระบบออนนไลน์ นอกจากนี้ยังนำมาใช้บรรจุอาหาร เพื่อทดแทน   การใช้พลาสติกและโฟม)

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.5 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคเหนือ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 78.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 78.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณ การผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ผลิตภัณฑ์เส้นใยประดิษฐ์มียอดขายลดลงจากตลาดในประเทศและตลาดจีนและตุรกี ขณะที่ผลิตภัณฑ์ผ้าผืนและเส้นใยสิ่งทอมีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีนและเวียดนาม ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ลดลงและผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว)

อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ในสำนักงาน กระดาษทิชชู กระดาษอนามัย มียอดขายในประเทศลดลง ประกอบเทคโนโลยีที่เข้ามาทำให้ความนิยมใช้กระดาษลดลง ด้านการส่งออก     มีคำสั่งซื้อเยื่อและกระดาษลดลงจากตลาดเวียดนาม จีนและมาเลเซีย)

อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูปไม้และเหล็ก มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น การส่งออกเฟอร์นิเจอร์มีคำสั่งซื้อลดลงจากญี่ปุ่นและอาเซียน)

อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก สุขภัณฑ์เซรามิก มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องใช้ในโครงการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก และกระเบื้องปูพื้นมีความต้องการจากประเทศญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 92.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 92.6 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม2562 อยู่ที่ระดับ 88.1 ปรับตัวลดลง จากระดับ 88.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าประเภทแผงวงจรไฟฟ้า มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดจีน เนื่องจากเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน สินค้าเครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดสหรัฐ เนื่องจากเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงทำให้ความต้องใช้ HDD ลดลง และเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง)

อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์หินอ่อน หินประดับ อิฐมวลเบา หินที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศลดลงเนื่องจากความต้องการใช้ในภาคก่อสร้างชะลอตัวลง ประกอบในบางพื้นที่มีภาวะน้ำท่วม โดยเฉพาะภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางบางส่วน)

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (เครื่องเกี่ยวนวดข้าว เครื่องสูบน้ำ มียอดขายในประเทศลดลง จากความต้องการใช้ในภาคเกษตรที่ชะลอตัว)

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป เสื้อผ้าเด็กอ่อนและชุดชั้นใน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯและญี่ปุ่น เนื่องจากผู้ประกอบการไทยรับจ้างผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจากแบรนด์ต่างประเทศ)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.4 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 97.6 ในเดือนกรกฎาคม  องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคตะวันออก

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม2562 อยู่ที่ระดับ 111.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 109.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

อุตสาหกรรมอลูมิเนียม (ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ลวดสแตนเลส มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากในประเทศ จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร ด้านการส่งอกผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมชนิดม้วนและแผ่น มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ และอินเดีย)

อุตสาหกรรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ เช่น เวียดนาม สหรัฐฯ ออสเตรเลีย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูร้อนทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น สินค้าประเภทตู้เย็น ตู้แช่ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียนและอินเดีย)

อุตสาหกรรรมเคมี (เคมีอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์สีทาบ้าน สีน้ำพลาสติก มียอดขายประเทศเพิ่มขึ้น)

อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

อุตสาหกรรรมเหล็ก (เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กในประเทศชะลอตัว ประกอบกับมีสินค้าเหล็กจากจีนเข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น การส่งอออก มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศญี่ปุ่นและอินเดีย จากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่ชะลอลง)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 112.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.8 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

ภาคใต้

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 75.5 ปรับตัวลดลงจากระดับ 76.4 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่

อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้ยางพาราแปรรูป มีคำสั่งซื้อจากประเทศจีนลดลง เนื่องจากเป็นสินค้าที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน ขณะที่ความต้องการใช้ไม้สำหรับการก่อสร้างในประเทศลดลง)

อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (ผลิตภัณฑ์ประเภทชิ้นไม้สับ ไม้อัด ไม้บาง มียอดคำสั่งซื้อในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้าในประเทศมีสินค้าในสต๊อกจำนวนมากทำให้ชะลอการสั่งซื้อ ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศจีนและเกาหลีใต้)

อุตสาหกรรมในภาคใต้ ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ 

ผลิตภัณฑ์ยาง (ผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่นจากความต้องการใช้ที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยางแผ่นรมควันมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีนและ ผลิตภัณฑ์ยางคอมพาวด์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศอินเดีย)

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ 100.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.5 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนสิงหาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ และดัชนีฯ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนกรกฎาคม โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
 
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 91.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 91.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 103.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 102.5 ในเดือนกรฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ)

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนสิงหาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 98.9 ปรับตัวลดลง จากระดับ 99.9 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ,อุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 102.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 101.7 ในเดือนกรกฎาคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ

เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลงได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ โดยมีรายละเอียดดังนี้ 

ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ

1) เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะกลาง 1-2 ปี และมาตรการระยะยาว เช่น การลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำเพื่อเกษตรกร การจัดโซนนิ่งพืชผลการเกษตร ซึ่งจะช่วยให้ภาคเกษตร มีรายได้เพิ่มขึ้นในระยะยาว 

2) สนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมที่เป็นเทรนด์ใหม่ ๆ เช่น อุตสาหกรรมกีฬาและสินค้าเพื่อผู้สูงอายุ เพื่อช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและส่งเสริมสินค้าไทยให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อ่านต่อ

ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม กรกฎาคม 2562