ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีนาคม 2562
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนมีนาคม 2562 จำนวน 1,207 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ร้อยละ 28.3, 40.8 และ 30.9 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 38.4, 14.1, 13.2, 21.0 และ 13.3 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 80.0 และ 20.0 ตามลำดับ
โดยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 96.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในองค์ประกอบ ยอด-คำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
จากการสำรวจ พบว่า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคมปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 โดยยังคงได้รับแรงหนุนจากการบริโภคภายในประเทศ ขณะเดียวกันการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ทำให้ยอดขายและยอดคำสั่งซื้อปรับตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าคงทนและสินค้าไม่คงทน อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ และอุตสาหกรรมอาหาร เป็นต้น อีกทั้งผู้ประกอบการได้เร่งการผลิต เพื่อชดเชยในเดือนเมษายนที่มีวันทำงานน้อยกว่าปกติ เนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องในช่วงเทศกาลสงกรานต์ สะท้อนจากดัชนีปริมาณการผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังมีความกังวลต่อการเมืองภายในประเทศหลังการเลือกตั้ง จึงต้องการให้มีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจัยภายนอกประเทศทั้งจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ผู้ประกอบการจึงเห็นว่าการบริโภคภายในประเทศ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง อยู่ที่ระดับ 104.2 โดยลดลงจาก 105.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีสาเหตุจากความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ ตลอดจนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนมีนาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อม ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้
อุตสาหกรรมขนาดย่อม
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 82.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 78.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก,อุตสาหกรรมหล่อโลหะ, อุตสาหกรรมไม้อัดไม้บาง และวัสดุแผ่น เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 96.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 97.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดกลาง
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 96.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุ-ภัณฑ์, อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 104.8 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.1 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 109.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า, อุตสาหกรรมอลูมิเนียม เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และปริมาณการผลิต
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาคประจำเดือนมีนาคม 2562 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของทุกภูมิภาคปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยมีรายละเอียดมีดังนี้
ภาคกลาง
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 99.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 98.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอเมริกาเหนือ และญี่ปุ่น ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส และอาหารสำเร็จรูป มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ)
- อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (เครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวมีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่อง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเครื่องสำอางเพิ่มขึ้นจากตลาด CLMV เนื่องจากสินค้าของไทยเป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้าน)
- อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และการลงทุนโครงการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์)
- อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (เครื่องมือเกษตร และเครื่องเกี่ยวนวดข้าวมียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากเกษตรกรมีความต้องการใช้สินค้าลดลง)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 108.4 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ภาคเหนือ
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 81.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 79.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมสิ่งทอ (เส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ เส้นใยประดิษฐ์ และผ้าผืน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ และส่งออกไปยังตลาดเวียดนามและสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น)
- อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในภาคก่อสร้าง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าก่อนวันหยุดยาวในช่วงเทศกาลสงกรานต์)
- อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (หลังคาเมทัลชีท หลังคาสังกะสีและเหล็กเคลือบมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้าง และภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กระเบื้องมุงหลังคามีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาด CLMV)
- อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (ผลิตภัณฑ์กระดาษอนามัย กระดาษทิชชู และกระดาษที่ใช้ในสำนักงานมียอดขายในประเทศลดลงตามความต้องการใช้ในสำนักงาน ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษสามีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดยุโรป)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 93.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 94.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 93.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป และเสื้อผ้ากีฬามียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูป และเสื้อกันหนาวมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดญี่ปุ่น และยุโรป)
- อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาวมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันปริมาณการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ด้านการส่งออกน้ำตาลทรายมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเกาหลีใต้และมาเลเซีย)
- อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์หินอ่อน หินประดับ อิฐมวลเบา และอิฐที่ใช้ในการก่อสร้างมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในธุรกิจก่อสร้าง)
- อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟมีคำสั่งซื้อลดลงจากสหรัฐฯและจีน เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกชะลอลง)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.1 ปรับตัวลดลงจากระดับ 102.2 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 111.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 111.0 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (เครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน ด้านการส่งออกเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป คอมเพรสเซอร์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดญี่ปุ่นและจีน)
- อุตสาหกรรมเหล็ก (เหล็กเส้น เหล็กลวด และเหล็กโครงสร้างรูปพรรณมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐและการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดสหรัฐฯ)
- อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (อะไหล่รถยนต์ และรถจักรยานยนต์มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ และอุปกรณ์รถยนต์ มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดญี่ปุ่น และเวียดนาม)
- อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมมียอดขายในประเทศลดลง และส่งออกไปตลาดจีนและญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 114.2 เพิ่มขึ้นจากระดับ 113.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 81.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 79.6 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
- อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยางทางการแพทย์ ถุงยางอนามัย และยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และยุโรป)
- อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ไม้แปรรูปมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในการก่อสร้างและซ่อมแซมที่อยู่อาศัย)
- อุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม (น้ำมันปาล์มดิบมีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการนำมาผลิตไบโอดีเซล ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มขวด เพิ่มขึ้นจากตลาดมาเลเซีย)
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 100.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 98.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนมีนาคม 2562 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2562
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 93.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.7 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562
องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร, อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์, อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 105.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ)
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนมีนาคม 2562 อยู่ที่ระดับ 107.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 106.9 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น, อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง, อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.3 ปรับตัวลดลงจากระดับ 104.8 ในเดือนกุมภาพันธ์ องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2562 พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก ราคาน้ำมัน และสถานการณ์การเมืองในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนและการขยายตัวของเศรษฐกิจ
อ่านต่อ
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม กุมภาพันธ์ 2562