063-10-บริษัทรับเหมาก่อสร้างในไทย-รายได้-2562

10 รับเหมาฝ่าวิกฤตโกยรายได้ปี”62 ITD ยืนหนึ่ง “ซิโน-ไทยฯ” แซงหน้า “ช.การช่าง”

อัปเดตล่าสุด 19 มี.ค. 2563
  • Share :
  • 19,180 Reads   

เข้าสู่ปี 2563 มาได้ 3 เดือน เศรษฐกิจประเทศไทยดูจะเข้าสู่ภาวะ “เผาจริง” ดังที่โหราจารย์หลายสำนักทำนายไว้ ตัวกระตุ้นที่ทำให้คำทำนายมาเร็วขึ้นคงหนีไม่พ้นไวรัสโควิด-19 นอกจากสร้างความหวาดผวาให้ประชาชนแล้ว ยังกระหน่ำซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยให้โตต่ำ

หากโฟกัสเครื่องยนต์เศรษฐกิจ “การลงทุน” ยังถือเป็นพระเอกที่หลายฝ่ายตั้งหน้าตั้งตารอให้เกิดการผลักดันจากรัฐบาล “ประยุทธ์ 2/1” เพื่อให้เม็ดเงินที่ตุนเอาไว้ กระจายลงสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ในช่วงปีที่ผ่านมาถึงต้นปี 2563 นี้ สถานการณ์ก็ยังดูเงียบไม่ขยับไปไหน

แม้ว่าปีที่แล้วจะปิดดีลใหญ่อย่าง “ไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน” มหากาพย์ค่าเวนคืน “มอเตอร์เวย์บางใหญ่-กาญจนบุรี” เพื่อหมุนเงินเข้าระบบ แต่ถ้ามองภาพรวมยังมีโครงการค้างท่อรอกดปุ่มอีกเพียบ โดยเฉพาะเมกะโปรเจ็กต์ที่บริษัทรับเหมารายใหญ่ของประเทศต่างรอคอยมานาน

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมผลประกอบการ 10 บริษัท รับเหมารายใหญ่ของประเทศ เพื่อดูถึงสถานการณ์ตลอดปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังกินบุญเก่าเป็นหลัก

อิตาเลียนไทยขาดทุน 37 ล้าน

เริ่มจากพี่ใหญ่ของวงการ “บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์” ของเจ้าสัวเปรมชัย กรรณสูต ในปี 2562 ยังครองรายได้รวมเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 63,213.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,318.95 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 61,894.09 ล้านบาท เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่มีความคืบหน้ามากขึ้น เช่น โครงการ One Bangkok, รถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-จิระ, ท่าเทียบเรือและสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวหนองแฟบ, โรงไฟฟ้าบางปะกง และจ้างเหมาขุด-ขนดินและถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ

แต่มีภาวะขาดทุน 37.34 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีกำไร 305.62 ล้านบาท เนื่องจากในปีที่ผ่านมาประสบภาวะขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการกู้ยืมของบริษัทย่อยในต่างประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนตัวของค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย

เปรมชัย กรรณสูต

ซิโน-ไทยพุ่ง-ช.การช่างร่วง

รองลงมาเป็น “บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น” ธุรกิจใต้ปีก ตระกูลชาญวีรกูล ในปี 2562 มีรายได้รวม 33,614.69 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,613.78 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 28,000.91 ล้านบาท มีผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,483.64 ล้านบาท ลดลง 133.32 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีกำไร 1,616.86 ล้านบาท

“ภาคภูมิ ศรีชำนิ” กรรมการผู้จัดการ บมจ.ซิโน- ไทยฯ กล่าวว่า ในปี 2562 บริษัทมีรายได้รวม 33,614 ล้านบาท เป็นรายได้จากการก่อสร้าง 98-99% จากงานในมือที่คืบหน้ามากขึ้น เช่น รถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง รถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน และช่วงประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

“ปัจจุบันมีงานในมือกว่า 90,000 ล้านบาท สามารถรับรู้ได้อีก 4 ปี เฉลี่ยปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งปีที่แล้วรับรู้งานใหม่เข้ามาเพิ่ม 15,000 ล้านบาท ทำให้ในปี 2563 จะรับรู้รายได้อยู่ที่ 35,000 ล้านบาท หากปีนี้มีงานใหม่เข้ามาเพิ่ม อาจจะแตะ 40,000 ล้านบาท”

ภาคภูมิ ศรีชำนิ

นายภาคภูมิกล่าวอีกว่า โดยบริษัทสนใจเข้าประมูลหลายโครงการ เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์, สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ, สายสีแดง 3 เส้นทาง ตลิ่งชัน-ศิริราช, ตลิ่งชัน-ศาลายา และรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์, รถไฟทางคู่เฟส 2 รวมสายใหม่ 9 เส้นทาง และงานของเอกชนบางส่วน และรอสัญญาเมืองการบินอู่ตะเภาด้วย

หล่นลงไปอยู่อันดับ 3 สำหรับ “บมจ.ช.การช่าง” ของ ตระกูลตรีวิศวเวทย์ ซึ่งปี 2562 มีรายได้รวม 26,602.76 ล้านบาท ลดลง 4,572.81 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 31,175.57 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการก่อสร้างลดลง บวกกับมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น และโครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วย รถไฟทางคู่ช่วงจิระ-ขอนแก่น และโรงไฟฟ้าไซยะบุรี ได้ส่งมอบงานเรียบร้อยแล้ว ส่วนผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,777.78 ล้านบาท ลดลง 716.53 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีกำไรสุทธิ 2,494.91 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการก่อสร้างลดลง

ปลิว ตรีวิศวเวทย์

อันดับที่ 4 ตกเป็นของ บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น ในปี 2562 มีรายได้รวม 12,137.94 ล้านบาท ลดลง 845.38 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 12,983.32 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 729.92 ล้านบาท ลดลง 66.72 ล้านบาท จากปีที่แล้วที่มีกำไร 796.64 ล้านบาท

เพาเวอร์ไลน์ใกล้แตะหมื่นล้าน

อันดับที่ 5 บมจ.เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง ปี 2562 มีรายได้รวม 9,644.13 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,666.62 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 7,977.51 ล้านบาท เป็นผลมาจากการรับรู้รายได้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้น ส่วนผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 221.04 ล้านบาท ลดลง 2.69 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีกำไร 223.73 ล้านบาท เป็นผลมาจากมีค่าใช้จ่ายในการบริหารเพิ่มขึ้น

อันดับที่ 6 บมจ.ซินเท็ค คอนสตรัคชั่น ปี 2562 มีรายได้รวม 8,562.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,133.92 ล้านบาท จากปี 2561 มีรายได้รวม 7,428.31 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ในส่วนธุรกิจบริการห้องพักเพิ่มขึ้นเป็น 461 ล้านบาท และรายได้จากธุรกิจก็เพิ่มขึ้นเป็น 7,922 ล้านบาท ขณะที่ผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 294.17 ล้านบาท ลดลง 328.04 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีกำไร 622.21 ล้านบาท เนื่องจากกำไรจากธุรกิจบริการห้องพักลดลง 20.63% ส่วนกำไรจากการก่อสร้างก็เหลือเพียง 11.32%

เนาวรัตน์ขาดทุนอ่วม 515 ล้าน

อันดับที่ 7 บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ มีรายได้รวม 7,871.06 ล้านบาท ลดลง 2,573.39 ล้านบาท จากปี 2561 มีรายได้รวม 10,444.45 ล้านบาท เนื่องจากรายได้จากการก่อสร้างลดลง 27.18% เป็นผลจากการปรับประมาณการต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้าของผู้ว่าจ้าง เช่นเดียวกับรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ลดลง 48.75% จากการที่บริษัทลูกอย่าง บจ.มานะพัฒนาการ มีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านเดี่ยวและห้องชุดลดลง เป็นผลกระทบจากมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และลูกค้าต่างประเทศมีสัดส่วนลดลง ขณะที่ปีนี้มีผลขาดทุน 515.22 ล้านบาท จากปีที่แล้วมีกำไร 418.04 ล้านบาท

อันดับที่ 8 บมจ.คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) มีรายได้รวม 7,347.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 211.95 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 7,135.91 ล้านบาท เป็นผลจากการบริหารจัดการโครงการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประกอบกับมีการชำระหนี้จากหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 64 ล้านบาท

ขณะที่ผลกำไรสุทธิอยู่ที่ 73.09 ล้านบาท พลิกจากขาดทุน 423.07 ล้านบาท จากปีที่แล้ว เป็นผลมาจากในปี 2561 มีการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 213 ล้านบาท แต่ในปี 2562 ไม่มีการตั้งสำรองหนี้ดังกล่าวแล้ว บวกกับมีกำไรขั้นต้นจากการบริหารโครงการที่ดีขึ้นจำนวน 154 ล้านบาท

“พรีบิวท์” ชี้การเมือง-ศก.กระทบ

อันดับ 9 บมจ.พรีบิลท์ กับรายได้รวม 4,368.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 447 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้ 3,921.37 ล้านบาท เป็นผลจากรายได้จากการรับเหมาเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากการตัดสินใจชะลอเปิดโครงการพัฒนาอสังหาฯในปีที่ผ่านมา เนื่องจากความไม่แน่นอนจากสถานการณ์การเมืองและเศรษฐกิจทั้งภายในและต่างประเทศ เป็นผลให้มียอดส่งมอบงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า

อีกทั้งรายได้จากการจำหน่ายแผ่นรองพื้นเพิ่มขึ้น 90 ล้านบาท ขณะที่ปี 2562 มีกำไรสุทธิ 271.79 ล้านบาท ลดลง 112.63 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีกำไร 384.42 ล้านบาท เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจในประเทศยังไม่ฟื้นตัว ทำให้กระทบต่อธุรกิจรับเหมาและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลง

ปิดท้าย อันดับที่ 10 กับ บมจ.ซีฟโก้ มีรายได้รวม 3,062.06 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 272.34 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีรายได้รวม 2,789.72 ล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 409.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41.3 ล้านบาท จากปี 2561 ที่มีกำไร 368.21 ล้านบาท

อ่านเพิ่มเติม: