ค่ายรถญี่ปุ่นกำไรกว่าครึ่ง แต่ยังคงต้องระวังปัจจัยอื่น

อัปเดตล่าสุด 9 พ.ย. 2561
  • Share :
  • 333 Reads   

ผู้ผลิตยานยนต์นั่งส่วนบุคคลค่ายญี่ปุ่น 7 ราย เผยตัวเลขผลประกอบการในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2018 (เมษายน-กันยายน) พบว่ามีบริษัทที่ทำยอดขายได้มากขึ้น 5 บริษัท และมีบริษัทที่ทำกำไรได้ 4 บริษัท คาดเป็นผลจากการส่งเสริมการขาย และมาตรการการลดต้นทุน อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยด้านสงครามการค้า การชะลอตัวของตลาด และค่าเงินที่ต้องเฝ้าระวัง โดยแต่ละบริษัท มีรายละเอียด ดังนี้

Toyota
ทำกำไรได้ 12,618 ล้านเยน เพิ่มขึ้นจากครึ่งแรกปีงบประมาณก่อน 15.1% ซึ่งแม้ว่าเดิมทีจะขาดทุนเป็นจำนวนมากจากปัญหาด้านค่าเงินเยน แต่ก็สามารถทำยอดในเอเชีย และยุโรป ขึ้นมาทดแทนได้ รวมถึงยังประสบความสำเร็จในการลดต้นทุน จึงคาดการณ์ว่าเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณนี้ จะสามารถทำยอดสูงสุดทำลายสถิติบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม ยอดขายในอเมริกาเหนือไม่สู้ดีนัก โดยรองประธาน Kouji Kobayashi ชี้แจงว่า “ยอดขายค่อนข้างต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค”

Nissan
ทำยอดขายได้ต่ำกว่าครึ่งแรกปีงบประมาณ 2017 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงผลกระทบจากค่าเงินเยน ซึ่ง Mr. Hiroshi Karube CFO บริษัท Nissan ได้ชี้แจงว่า “เราได้ทำการยกระดับการขายในสหรัฐฯ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเราจะสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าต่อไป”

Honda
ประสบปัญหาด้านยอดขายรถ SUV ซึ่งเป็นสินค้าหลักของค่ายในตลาดจีน และมียอดขายต่ำกว่าปีที่แล้วต่อเนื่องถึง 3 เดือน อย่างไรก็ตาม บริษัทยังสามารถทำผลกำไรได้อยู้จากธุรกิจจักรยานยนต์ซึ่งดำเนินไปด้วยดี

Suzuki
ทำกำไรได้เป็นอย่างดีในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ ก่อนที่ยอดจะลดลงเป็นอย่างมากในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากอิทธิพลสงครามการค้าจีน - สหรัฐฯ และการเสื่อมค่ารูปีของอินเดีย

Mazda
ผลกำไรลดลงจากอิทธิพลจากเหตุการณ์ “น้ำท่วมญี่ปุ่น 2018” และยอดขายในจีนที่ลดลงจากปีงบประมาณก่อน 8.8%

Mitsubishi Motors
ทำยอดขายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ยอดขายและผลกำไรของบริษัทมากกว่าปีงบประมาณก่อนถึง 2 หลัก อย่างไรก็ตาม ไม่มีการปรับแก้ยอดคาดการณ์ให้สูงขึ้น โดย CEO Osamu Masuko กล่าวว่า “มีความเสี่ยงมากเกินไป”

SUBARU
ผลกำไรลดลงจากปัญหาด้านคุณภาพสินค้า

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่น ๆ ที่ต้องคำนึงถึงในอนาคต เช่น การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ตลาดยานยนต์ที่สำคัญของค่ายรถญี่ปุ่น การเสื่อมค่าของของสกุลเงินในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงภาษีเหล็ก และอลูมิเนียม ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตยานยนต์สูงขึ้นอีกด้วย