051-รายงาน-ธุรกิจ-อุตสาหกรรม-ผลวิจัย

ผลสำรวจธุรกิจไทยพบ ”บริษัทซอมบี้” ซ่อนตัวอยู่ 5%

อัปเดตล่าสุด 14 พ.ย. 2562
  • Share :
  • 590 Reads   

สถาบันวิจัยป๋วยฯเปิดผลศึกษาระบบเศรษฐกิจไทยมี “ซอมบี้เฟิร์ม” อยู่ประมาณ5% ของสินทรัพย์ภาคธุรกิจทั้งหมด เผย 5 กลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่มีบริษัทผีดิบมากที่สุด”ก่อสร้าง-โรงแรม-กีฬาบันเทิง-เหล็ก-การศึกษา” ชี้กระทบพลวัตของธุรกิจไทย-ลดโอกาสบริษัทใหม่เข้ามาแข่งขันในตลาด แนะรัฐปรับโครงสร้างแก้กฎหมายหนุนให้บริษัทที่ไม่สามารถทำกำไรออกจากตลาดเร็วขึ้น
 
นายอาชว์ ปวีณวัฒน์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ เปิดเผยว่า จากผลศึกษาเกี่ยวกับภาคธุรกิจไทยโดยใช้ข้อมูลงบการเงินของบริษัทกว่า 750,000 แห่ง ระหว่างปี 2549–2559 พบว่า บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีข้อจำกัดในการดำเนินการมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังพบว่าพลวัตธุรกิจของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ทั้งพบว่าบริษัทที่มีผลิตภาพต่ำและไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้แต่ยังสามารถอยู่รอดได้ด้วยปัจจัยต่าง ๆ หรือที่เรียกว่า บริษัทผีดิบ (Zombie Firms) ทำให้บริษัทที่มีผลิตภาพสูงกว่าไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่และตัดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดของบริษัทใหม่

ทั้งนี้ บริษัทผีดิบหรือบริษัทที่มีอายุมากกว่า 10 ปี ไม่มีความสามารถทำกำไรมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งควรที่จะต้องออกจากตลาดไปแล้วแต่กลับอยู่รอดในระบบเศรษฐกิจ จากที่สำรวจพบว่ามีสัดส่วนประมาณ 5% ของสินทรัพย์ในภาคธุรกิจทั้งหมด โดยในปี 2559 อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนบริษัทผีดิบสูงสุด 5 อุตสาหกรรมแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมก่อสร้าง , โรงแรม , กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง , การผลิตโลหะพื้นฐาน และธุรกิจการศึกษา

“สัดส่วนของบริษัทผีดิบที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ส่งผลกระทบทางลบต่อโอกาสที่บริษัทใหม่จะเข้าสู่ตลาดในอุตสาหกรรมนั้น รวมทั้งจะกระทบกับการลงทุนของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันด้วย โดยการเพิ่มขึ้นของบริษัทผีดิบ 1% จะส่งผลกระทบต่อการลงทุนใหม่ของบริษัททั่วไปให้ลดลง 0.8% และจะส่งผลให้การลงทุนใหม่ของบริษัทที่มีอายุน้อย (ไม่เกิน5ปี) ให้ลดลง 0.9% ซึ่งสะท้อนถึงปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่กระจุกตัวอยู่ในธุรกิจที่ผลิตภาพต่ำ” นายอาชว์ กล่าว

โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาพลวัตธุรกิจของไทยที่วัดจากอัตราการเข้าสู่ตลาดของบริษัทใหม่และอัตราการออกจากตลาดของบริษัทที่มีอยู่เดิม มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุมาจากการมีอยู่ของบริษัทผีดิบ อย่างไรก็ตาม สัดส่วนบริษัทผีดิบในไทย 5% ยังถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศโออีซีดี (OECD) ที่มีสัดส่วนบริษัทผีดิบเกิน 5% ตั้งแต่หลังวิกฤตการเงินปี 2551 จากเดิมที่มีสัดส่วนบริษัทผีดิบเพียง 2-3% โดยมีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลของกลุ่มประเทศโออีซีดีเลี้ยงไข้บริษัทผีดิบเพื่อไม่ให้กลายเป็นหนี้เสียในระบบเศรษฐกิจ

“บริษัทผีดิบทั้งในกรณีของไทยและต่างประเทศเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย บ้างก็อยู่รอดมาได้จากการกู้เงินก้อนใหม่มาโปะ การขายสินทรัพย์ การเพิ่มทุนของกิจการ หรือแม้กระทั่งนโยบายรัฐบาล นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งบริษัทผีดิบเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อทำการหลบเลี่ยงภาษีหรือฟอกเงิน ซึ่งปัจจุบันเรากำลังศึกษาอยู่ว่าบริษัทผีดิบในไทยคือใครและอยู่ได้ด้วยสาเหตุอะไรบ้าง” นายอาชว์ กล่าว

นอกจากนี้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยยังชี้ว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุด 5% มีรายรับรวมสูงถึง 85% ของรายรับทั้งหมดของภาคธุรกิจไทย และการกระจุกตัวในลักษณะนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาอย่างน้อยกว่า 10 ปีแล้ว ในขณะที่บริษัทขนาดกลางมีอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสูงกว่าบริษัทขนาดใหญ่ แต่มีปัญหาด้านข้อจำกัดด้านสินเชื่อ ส่วนบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากมีปัญหาผลิตภาพที่ค่อนข้างต่ำ ส่งผลให้บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กยังมีปัญหาการบริหารสินทรัพย์หมุนเวียน

จากผลการศึกษาข้างต้น คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย 3 ประการ ได้แก่ 1.บริษัทขนาดกลางจำนวนหนึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อที่ค่อนข้างต่ำ นโยบายที่ช่วยให้บริษัทในกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นจะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี บริษัทขนาดเล็กจำนวนมากมีผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำ ชี้ให้เห็นปัญหาผลิตภาพของบริษัทกลุ่มนี้ ในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) การใช้นโยบายที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องใช้นโยบายอื่น ๆ ที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของบริษัทควบคู่ไปด้วย

2.บริษัทในกลุ่มทุนมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัททั่วไป และอำนาจตลาดส่งผลทางลบต่อประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรโดยทำให้บริษัทขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ขาดแรงจูงใจและความสามารถในการส่งออก ดังนั้น การเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ผู้กำกับดูแลด้านการแข่งขันควรที่จะนำมิติด้านโครงสร้างความเป็นเจ้าของมาพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายด้วย

และ 3.พลวัตธุรกิจไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และการมีอยู่ของบริษัทผีดิบส่งผลทางลบต่อโอกาสที่บริษัทใหม่จะเข้าสู่ตลาดและต่อการเติบโตของบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน นโยบายที่ทำให้บริษัทเก่าที่ไม่สามารถทำกำไรได้ออกจากตลาดเร็วขึ้น เช่น การปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย ดังเช่นในกรณีของต่างประเทศ หรือนโยบายที่ช่วยให้บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อลดขั้นตอนและะเวลาในการตั้งบริษัทใหม่ จะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการที่บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นจะช่วยยกระดับการแข่งขันในตลาดให้เพิ่มขึ้นและลดอำนาจตลาดของบริษัทอีกด้วย

“จากงานวิจัยเราพยายามชี้ให้เห็นว่าการมีอยู่ของบริษัทผีดิบมีต้นทุนอย่างไร ที่ผ่านมาอาจจะบอกว่าการช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นข้อดี แต่ในแง่หนึ่งก็ต้องการสะท้อนให้เห็นว่ามีต้นทุนหลายด้านในการอุ้มธุรกิจที่ไม่สามารถอยู่รอดได้ ไม่ใช่แค่ต้นทุนต่อบริษัทนี้เท่านั้น แต่เป็นต้นทุนที่ทำให้บริษัทดีอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกันก็โตไม่ได้เช่นกัน” นายอาชว์ กล่าว