บจ.ปี’61 กำไร 9.31 แสนล้านหดตัวเล็กน้อย รับผลพ่วง Q4 วูบหนัก

อัปเดตล่าสุด 13 มี.ค. 2562
  • Share :

บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานยอดขายปี 2561 รวม 11.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.36% จากปีก่อน กำไรสุทธิรวม 9.31 แสนล้านบาท ลดลง 1.45% เหตุไตรมาส 4/61 หมวดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับราคาสินค้าโภคภัณฑ์มีกำไรสุทธิลดลงจากการปรับลดมูลค่าสินค้าคงคลัง ตามทิศทางราคาน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภัณฑ์ และเหล็ก

นายแมนพงศ์ เสนาณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า หลักทรัพย์จดทะเบียนใน SET จำนวน 533 หลักทรัพย์ หรือคิดเป็น 97.80% จากทั้งหมด 545 หลักทรัพย์ (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน บริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC และบริษัทที่แก้ไขการดำเนินงานไม่ได้ตามกำหนด หรือ NPG) นำส่งผลการดำเนินงานงวดปี 2561 สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 พบว่าหลักทรัพย์ที่รายงานผลกำไรสุทธิมีจำนวน 438 หลักทรัพย์ คิดเป็น 82% ของหลักทรัพย์จดทะเบียนที่นำส่งงบการเงินทั้งหมด

ผลการดำเนินงานงวดปี 2561 หลักทรัพย์จดทะเบียนมียอดขายรวม 11,871,726 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.36% ขณะที่มีกำไรจากการดำเนินงานหลัก (Core operating profit) 1,079,375 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.47% และมีกำไรสุทธิ 931,163 ล้านบาท ลดลง 1.45% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน

“ในปี 2561 หลักทรัพย์จดทะเบียนยังคงมียอดขายเติบโตดีขึ้นตามเศรษฐกิจในประเทศ อย่างไรก็ดี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ลดลงแรงในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ส่งผลให้ไตรมาส 4/2561 หลักทรัพย์จดทะเบียนมีกำไรสุทธิลดลง 40.8% จากช่วงเดียวกันในปีก่อน โดยเฉพาะหลักทรัพย์ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีภัณฑ์ และเหล็ก และทำให้ภาพรวมปี 2561 มีกำไรสุทธิลดลง เมื่อเทียบกับในช่วง 9 เดือนแรกปี 2561 ที่รายงานกำไรสุทธิเติบโต 13%” นายแมนพงศ์กล่าว

ด้านดัชนีชี้วัดความสามารถทำกำไรอ่อนตัวลงเล็กน้อยจากปีก่อน โดยมีอัตรากำไรจากการดำเนินงานหลัก 9.09% และอัตรากำไรสุทธิ 7.40% เทียบกับในปีก่อนที่ 9.79% และ 8.25% ตามลำดับ ขณะที่ด้านฐานะการเงินของกิจการ ณ สิ้นปี 2561 พบว่าอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (ไม่รวมอุตสาหกรรมการเงิน) ปรับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.29 เท่า จาก ณ สิ้นปี 2560 ที่ 1.24 เท่า

หมวดธุรกิจที่มีมูลค่ากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นสูง คือ หมวดธนาคารพาณิชย์ ตามการขยายตัวของสินเชื่อและมีค่าใช้จ่ายเพื่อการสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญของธนาคารขนาดใหญ่ลดลง และหมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ ที่เติบโตดีตามการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อย

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ใน mai จำนวน 149 บริษัท คิดเป็น 93% จากทั้งหมด 161 บริษัท (ไม่รวมบริษัทในกลุ่มที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน หรือ NC บริษัทที่ปิดงบไม่ตรงงวดและบริษัทที่นำส่งงบไม่ทันตามกำหนด) นำส่งผลการดำเนินงานงวดปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2561 โดยมียอดขายรวม 174,363 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.64% จากปีก่อนหน้า ต้นทุนรวม 136,947 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลงจาก 22.43% มาอยู่ที่ 21.46% อย่างไรก็ดี บจ. ยังคงมีความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) 7,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 51.22% และมีกำไรสุทธิรวม 5,131 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.09% จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้พบ บจ.ที่รายงานผลกำไรสุทธิจำนวน 110 บริษัท คิดเป็น 74% ของบริษัทที่นำส่งผลการดำเนินงานทั้งหมด

“ผลการดำเนินงานปี 2561 ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมมีการเติบโตของยอดขาย แต่ปัจจัยราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไรของหลายบริษัท โดยเฉพาะบริษัทในกลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม บจ. ยังคงมีกำไรสุทธิรวมเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตของกำไรสุทธิ ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร กลุ่มทรัพยากร กลุ่มบริการ และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ตามลำดับ

เมื่อพิจารณาฐานะทางการเงิน บจ. mai มีสินทรัพย์รวม 271,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.25% จากสิ้นปี 2560 ขณะที่โครงสร้างเงินทุนรวมยังแข็งแรง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ที่ 1.07 เท่า เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่แล้วที่ 1.01 เท่า” นายประพันธ์กล่าว

ปัจจุบันมี บจ. ใน mai 161 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 8 มีนาคม 2562) ดัชนี mai ปิดที่ระดับ 371.20 จุด มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม (market capitalization) อยู่ที่ 253,267 ล้านบาท มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ย 800 ล้านบาทต่อวัน