ยอดขอส่งเสริมบีโอไอปี 2562 มูลค่าทะลุ 7.56 แสนลบ. พื้นที่ EEC นำลิ่ว

อัปเดตล่าสุด 16 ม.ค. 2563
  • Share :
  • 608 Reads   
รองนายกรัฐมนตรี เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนบีโอไอปี 2562 มีมูลค่าเงินลงทุน 756,100 ล้านบาท ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ร้อยละ 59
 
 
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังมอบนโยบายแก่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ว่า บีโอไอได้รายงานสถานการณ์การลงทุนในปี 2562 ที่ผ่านมา มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 756,100 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท
 
สำหรับคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี นั้น มีจำนวนทั้งสิ้น 506 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 444,880 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยจังหวัดระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด ตามด้วยจังหวัดชลบุรีและจังหวัดฉะเชิงเทราตามลำดับ
 
ทั้งนี้ยอดคำขอรับส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีจำนวน 838 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 286,520 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของมูลค่าขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งหมด โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เงินลงทุนรวม 80,490 ล้านบาท รองลงมา ได้แก่ อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เงินลงทุนรวม 74,000 ล้านบาท และอันดับ 3 ได้แก่ อุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ เงินลงทุนรวม 40,100 ล้านบาท
 
 
นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่า สำหรับปี 2563 คาดว่าการลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากบีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563 และมีการลงทุนจริงไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 รวมทั้งได้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ใช้อยู่เดิมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก ก่อนที่บีโอไอจะนำเสนอมาตรการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่ในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป 
 
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดยให้โครงการลงทุนในทุกพื้นที่ในอีอีซีสามารถได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม (ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% 3 ปี หรือยกเว้น 2 ปี) ไม่ว่าจะตั้งอยู่ในนิคมหรือเขตอุตสาหกรรมหรือไม่ หากโครงการรับนักศึกษาฝึกงานตามจำนวนขั้นต่ำที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่วนโครงการที่ตั้งในพื้นที่พิเศษ (เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา หรือ EECmd) รวมทั้งนิคมนิคมหรือเขตอุตสาหกรรม ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมอันเนื่องจากที่ตั้งอีกด้วยทั้งนี้ มาตรการนี้ใช้สำหรับคำขอรับการส่งเสริมที่ยื่นตั้งแต่ 2 มกราคม 2563 จนถึงสิ้นปี 2564 แต่หากตั้งโครงการในเขตส่งเสริมเพื่อกิจการพิเศษ ได้แก่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) เมืองการบินภาคตะวันออก (EECa) และศูนย์นวัตกรรมการแพทย์ครบวงจร ธรรมศาสตร์ พัทยา หรือ EECmd ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้ไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด
 
อ่านข่าวต่อ: