สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อและราคาสินค้าอุตสาหกรรม เดือนสิงหาคม 2561

อัปเดตล่าสุด 5 ก.ย. 2561
  • Share :
  • 826 Reads   

กระทรวงพาณิชย์ เผย  อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนสิงหาคม 2561 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.62 (YoY) ต่อเนื่องจากร้อยละ 1.46 ในเดือนก่อน และเป็นการสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน

การสูงขึ้นของเงินเฟ้อดังกล่าวสอดคล้องกับดัชนีราคาผู้ผลิตที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากราคาผลผลิตเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือน และ 4 เดือนตามลำดับ และดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 ชี้ว่าต้นทุนการผลิตเริ่มมีสัญญาณการปรับตัว ทำให้การสูงขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนนี้นอกจากจะมาจากความต้องการและราคาพลังงานที่สูงขึ้นแล้ว ยังได้รับอิทธิพลจากการปรับตัวของต้นทุนการผลิตของสินค้าบางชนิดทั้งจากการผลิตในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรอีกด้วย

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนสิงหาคม 2561 เท่ากับ 102.27 เมื่อเทียบกับ
ระยะเวลา การเปลี่ยนแปลง ร้อยละ
1. เดือนกรกฎาคม 2561 (MoM) สูงขึ้น 0.26
2. เดือนสิงหาคม 2560 (YoY) สูงขึ้น 1.62

3. เฉลี่ย 8 เดือน 2561 (AoA)

   (ม.ค.- ส.ค. 2561)/ (ม.ค.- ส.ค. 2560)

สูงขึ้น 1.12


สถานการณ์ราคาสินค้าอุตสาหกรรมเดือนสิงหาคม 2561

  • ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.6 จากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ 
  • กลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง จากการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมัน 
  • กลุ่มสินค้าเคมีภัณฑ์ ตามราคาน้ำมันซึ่งเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่อง 
  • กลุ่มเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กแท่ง เหล็กแผ่น เหล็กเส้น ท่อเหล็ก) ตามต้นทุนการผลิต และเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2561 ดัชนีราคาผู้ผลิตลดลง -0.1 (MoM) 

ดัชนีราคาผู้ผลิตเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) สูงขึ้นร้อยละ  0.2 (AoA)  

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2560  เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 (YoY) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 14 จากการสูงขึ้นของ 

  • หมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก เป็นสำคัญ สูงขึ้นร้อยละ 9.1 (เหล็กเส้นกลมผิวเรียบ–ผิวข้ออ้อย เหล็กตัวซี เหล็กฉาก เหล็กตัว I เหล็กตัว H เหล็กรางน้ำ ลวดเหล็กเสริมคอนกรีตอัดแรง ลวดผูกเหล็ก ท่อเหล็กเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กกลวงเคลือบสังกะสี ท่อเหล็กดำ เหล็กแผ่นเรียบดำ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ตะปู) ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น  
  • หมวดผลิตภัณฑ์คอนกรีต สูงขึ้นร้อยละ 2.1 (เสาเข็มคอนกรีต   อัดแรง พื้น-คานคอนกรีตสำเร็จรูปอัดแรง คอนกรีตผสมเสร็จ คอนกรีตหยาบ ถังซีเมนต์สำเร็จรูป ชีทไพล์คอนกรีต) ตามราคาปูนซีเมนต์และลวดเหล็กอัดแรง  
  • หมวดซีเมนต์ สูงขึ้นร้อยละ 2.1 (ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ปูนซีเมนต์ผสม ปูนซีเมนต์ขาว) ความต้องการใช้เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของการก่อสร้าง 
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเมื่อเทียบกับเดือนกรกฎาคม 2561  สูงขึ้นร้อยละ 0.4 (MoM)

ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเฉลี่ย 8 เดือน (ม.ค.-ส.ค.) สูงขึ้น ร้อยละ 3.5 (AoA)


แนวโน้มเงินเฟ้อ

การเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อที่เข้าสู่กรอบคาดการณ์เงินเฟ้อเป็นเดือนที่ 6  แม้ว่าส่วนหนึ่งจะมีปัจจัยจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและการปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรบางชนิด แต่เครื่องชี้วัดต่างๆ โดยรวมสะท้อนว่า การบริโภค และการใช้จ่ายของทั้งภาครัฐและเอกชนยังอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับการจ้างงาน การจัดเก็บรายได้ การผลิตภาคอุตสาหกรรม และการหมุนเวียนของปริมาณเงินในระบบยังอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการบริโภค สอดคล้องกับผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคล่าสุดที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ต้นทุนการผลิตของสินค้าบางชนิดเริ่มได้รับผลกระทบจากอิทธิพลของราคาพลังงาน (โดยเฉพาะการผลิตต้นน้ำและกลางน้ำ ในขณะที่ปลายน้ำยังไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก) รวมทั้งค่าเงินบาทยังมีโอกาสผันผวน ประกอบกับอัตราค่าจ้างเฉลี่ยเริ่มมีสัญญานขยายตัวได้ในอัตราที่ช้ากว่าเงินเฟ้อ ทำให้เงินเฟ้อในระยะต่อไปจะค่อยๆ ปรับตัวสูงขึ้น แต่องค์ประกอบของเงินเฟ้อจะมีปัจจัยด้านต้นทุนมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มาตรการกระตุ้นการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐในโครงการสำคัญที่ต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายในช่วงที่เหลือของปี รวมทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและโลก น่าจะทำให้ความต้องการภาคเอกชนยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ร้อยละ 0.8 – 1.6  และเข้าสู่เป้าหมายนโยบายการเงินระยะปานกลางที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ร้อยละ 2.5±1.5 ได้

4. คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2561
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 0.8 - 1.6 (YoY)
อัตราเติบโตทางเศรษฐกิจ  4.2 - 4.7 (YoY) (สศช.)
ราคาน้ำมันดิบดูไบ  H2 65 - 75  เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
 ทั้งปี 60 - 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
อัตราการแลกเปลี่ยน   H2 32 - 34  บาท/เหรียญสหรัฐ
 ทั้งปี 32 - 34 บาท/เหรียญสหรัฐ
ราคาสินค้าเกษตร  (-7) - (-5) %
การบริโภคภาคเอกชน  3.7 % (สศช.)
การส่งออก  สูงกว่า 8.0 %