ผลประกอบการ 2019 ค่ายรถญี่ปุ่นอ่วม R&D ทำกำไรหด
ผู้ผลิตยานยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น 7 ค่าย เผยคาดการณ์ผลประกอบการปี 2019 เมื่อเร็ว ๆ นี้ ซึ่งบ่งชี้ว่า กำไรจากการดำเนินงานของ Toyota, Nissan, Honda, Suzuki, Mazda, และ Mitsubishi ลดลง มีเพียง Subaru เท่านั้นที่ยังมีผลกำไรเพิ่มขึ้น ด้วย 3 ปัจจัยหลักที่กระทบผลประกอบการจากการชะลอตัวของยอดขายรถยนต์ในตลาด การแข็งค่าของเงินเยน และการทุ่มงบประมาณเพื่อทำ R& D ในการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี CASE ดังที่เห็นได้จากหลายค่ายนำเสนอรถต้นแบบที่ใช้เทคโนโลยี CASE ในงานโตเกียวมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา ด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ ผู้ผลิตยานยนต์จึงให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนมากยิ่งขึ้น แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากก็ตาม โดยเฉพาะการที่รถยนต์โมเดลใหม่ในตลาดเริ่มติดตั้งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ด้วยแล้ว ก็ทำให้ราคาต่อคันสูงขึ้นไปอีก การลดต้นทุนการผลิตจึงเป็นเรื่องยากกว่าที่แล้วมา
Mitsubishi Automotive กำหนดให้อัตราแลกเปลี่ยนในช่วงปีงบประมาณ 2019 อยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐ = 108 เยน ในขณะที่ค่ายอื่น ๆ กำหนดไว้ที่ 107 เยน ซึ่งด้วยอัตราแลกเปลี่ยนนี่ Toyota คาดว่า จะสูญเสียกำไร 3.8 แสนล้านเยน ในขณะที่ Nissan จะเสียกำไร 1.2 แสนล้านเยน
Mr. Koji Ikeya รองประธานบริษัท Mitsubishi รายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทเป็นอย่างมาก และคาดการณ์ว่ารายได้ของบริษัทจะลดลง จึงวางแผนเพิ่มกำลังผลิตในไทย และอินโดนีเซีย รวมถึงปรับปรุงการผลิตและการขายในภูมิภาคใหม่
Mr. Seiji Kuraishi รองประธานบริษัท Honda กล่าวว่า “Honda ใช้เงินลงทุนไปกับ R & D เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับยอดขาย” ซึ่งเดิมที กำหนดงบประมาณไว้ที่ 5% ของรายได้จากยอดขาย แต่คาดว่าจะมากเกินกว่าที่ตั้งไว้ไปอยู่ที่ 5.7% ในปีงบประมาณนี้ พร้อมแจงว่า การลงทุนและให้เวลาเพื่อรองรับการมาของแนวคิด CASE เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง และเป็นภาระทางการเงินที่ค่ายรถทุกค่ายต้องประสบ ส่วน SUBARU รายงานว่า งบ R&D ส่วนหนึ่งเป็นสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (Intangible Assets) ตามมาตรฐาน IFRS
เมื่อต้องจัดสรรงบประมาณให้กับ R&D มากขึ้นแล้ว ค่ายรถจึงให้ความสำคัญกับการลดต้นทุนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รถยนต์โมเดลใหม่ในตลาดเริ่มติดตั้งเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) เอาไว้ ทำให้ราคาต่อคันสูงขึ้นไปอีก การลดต้นทุนการผลิตจึงเป็นเรื่องยากกว่าที่แล้วมา
ที่ผ่านมา Toyota แสดงให้เห็นว่าการลดต้นทุน และปรับปรุงการผลิตส่งผลต่อกำไรของบริษัทเป็นอย่างมาก โดยมีมูลค่าสูงกว่า 3 แสนล้านเยนต่อปี อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณนี้ คาดว่าจะตกลงมาอยู่ที่ 2.5 แสนล้านเยน ซึ่งทางบริษัทแสดงความเห็นว่า จำเป็นต้องลด Fixed Cost ลงในอนาคต