ดัชนีความเชื่อมั่น กุมภาพันธ์ 2562

อัปเดตล่าสุด 22 มี.ค. 2562
  • Share :
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จำนวน 1,162 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดย่อม อุตสาหกรรมขนาดกลาง และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ร้อยละ 28.8, 36.9 และ 34.3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด ตามลำดับ แบ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมในภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร้อยละ 36.0, 15.4, 13.9, 23.1 และ 11.6 ตามลำดับ และแบ่งตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ และกลุ่มอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 79.4 และ 20.6 ตามลำดับ
 
โดย ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 95.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 93.8  ในเดือนมกราคม โดยเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้น ในองค์ประกอบ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
จากการสำรวจ พบว่า ความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จากอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ สะท้อนจากความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมก่อสร้าง กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยได้แรงหนุนจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมทั้งกิจกรรมการหาเสียงเลือกตั้งซึ่งส่งผลดีต่อการใช้จ่ายภายในประเทศ โดยเฉพาะยานยนต์ สิ่งพิมพ์ อาหาร เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่งออกยังมีความกังวลต่อความผันผวนของค่าเงินบาท ทำให้กระทบต่อการวางแผนและการกำหนดราคา รวมทั้งการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ตามภาวะของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก สะท้อนจากค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของยอดคำสั่งซื้อและยอดขายในต่างประเทศที่ปรับตัวลดลง
 
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 105.4 เพิ่มขึ้นจาก 104.1 ในเดือนมกราคม เนื่องจากผู้ประกอบการคาดหวังว่าภายหลังการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ จะทำให้การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจมีความชัดเจนและส่งผลดีต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2562
 
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามขนาดของกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากการสำรวจ จุมภาพันธ์พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดย่อมและขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2562 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม 2562 โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
อุตสาหกรรมขนาดย่อม ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 78.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.7 ในเดือนมกราคม 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก, อุตสาหกรรมหล่อโลหะ, อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ เป็นต้น
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 97.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 96.0 ในเดือนมกราคม 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมขนาดกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 93.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 92.0  ในเดือนมกราคม 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ, อุตสาหกรรมน้ำตาล, อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง เป็นต้น
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 104.5 ในเดือนมกราคม 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 107.7 ปรับตัวลดลง จากระดับ 109.2 ในเดือนมกราคม 2562 โดยองค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่  ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
สำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม, อุตสาหกรรมปิโตรเคมี, อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ เป็นต้น
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 110.1 ในเดือนมกราคม โดยองค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นฯ รายภูมิภาค ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากการสำรวจ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2562 ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออก ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม 2562 โดยมีรายละเอียดมีดังนี้
 
ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 98.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 97.4 ในเดือนมกราคม 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมพลาสติก (สินค้าประเภทบรรจุภัณฑ์พลาสติกและเครื่องใช้ในครัวเรือน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดอาเซียน)
  2. อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง (เครื่องสำอาง และครีมบำรุงผิว มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่อเนื่อง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเครื่องสำอางเพิ่มขึ้นจากตลาด CLMV เนื่องจากสินค้าของไทยเป็นที่นิยมของประเทศเพื่อนบ้าน)
  3. อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ (กล่องกระดาษลูกฟูก กล่องสำหรับบรรจุสินค้ามีคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ตามความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมและการสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์ ประกอบกับได้รับผลดีจากการเลือกตั้งทำให้มีคำสั่งซื้อป้ายโฆษณาและสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้น)

 

อุตสาหกรรมในภาคกลางที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (เฟอร์นิเจอร์สำเร็จรูป มียอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากความต้องการใช้ชะลอตัวลง ด้านการส่งออกชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ มีคำสั่งซื้อลดลงจากประเทศสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)
 
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 106.8 ในเดือนมกราคม 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 79.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ (กระดาษที่ใช้ในสำนักงาน มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นตามความต้องการใช้ในสำนักงาน ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์กระดาษสา มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดยุโรป)
  2. อุตสาหกรรมแกรนิตและหินอ่อน (ผลิตภัณฑ์หินอ่อน หินประดับ อิฐมวลเบา อิฐที่ใช้ในการก่อสร้าง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในธุรกิจก่อสร้าง)
  3. อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ (หลังคาเมทัลชีท หลังคาสังกะสีและเหล็กเคลือบ มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้าง และภาคอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กระเบื้องมุงหลังคา มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาด CLMV)
 
อุตสาหกรรมในภาคเหนือที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมเซรามิก (กระเบื้องเซรามิก กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อและยอดขายในประเทศลดลง เนื่องจากลูกค้ามีสต๊อกสินค้าในปริมาณสูงทำให้ชะลอคำสั่งซื้อ ด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้นและบุผนัง มีคำสั่งซื้อลดลงจากจีน และตลาด CLMV)
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 93.6 ปรับตัวลดลงจากระดับ 95.9 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 93.2ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 91.4 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
       
  1. อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (เสื้อผ้าสำเร็จรูป มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกเสื้อผ้ากีฬา และชุดชั้นในสตรีมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และยุโรป)
  2. อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (ผลิตภัณฑ์คอนกรีตผสมเสร็จ มียอดขายและคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในโครงการก่อสร้างของภาครัฐ และการลงทุนโครงการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์)
  3. อุตสาหกรรมน้ำตาล (น้ำตาลทรายขาว มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น จากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม ด้านการส่งออกน้ำตาลทรายมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดเกาหลีใต้และมาเลเซีย)
 
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม (เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ มียอดขายในประเทศลดลง สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ประเภทแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ มีคำสั่งซื้อลดลงจากสหรัฐฯ)
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 102.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 100.4 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 111.0 ปรับตัวลดลงจากระดับ 113.6 ในเดือนมกราคม 2562  องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านลบต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม มียอดขายในประเทศลดลง และส่งออกไปประเทศจีนและญี่ปุ่นลดลง เนื่องจากประเทศคู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อ)
  2. อุตสาหกรรมปิโตรเคมี (ผลิตภัณฑ์เม็ดพลาสติก โพรพิลีนและเอทิลีน มีคำสั่งซื้อจากในประเทศลดลง และยังส่งออกไปยังประเทศจีน อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น ลดลง)
  3. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (สินค้าประเภทอัญมณี มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดต่างประเทศ อาทิ สหรัฐฯ เยอรมัน และฮ่องกง เครื่องประดับเงินมาร์คกาไซด์ พาราเดียมมียอดการส่งออกไป อินเดียลดลง)
 
อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกที่ส่งผลด้านบวกต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น (คอมเพรสเซอร์สำหรับเครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศจีน เครื่องปรับอากาศมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากตลาดในประเทศ และจากตะวันออกกลางและเอเชียใต้ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อน)
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.6 เพิ่มขึ้นจากระดับ 112.7 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
ภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 79.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 76.5 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านบวก ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
  1. อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ถุงมือยางทางการแพทย์ ถุงยางอนามัย ยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้น ด้านการส่งออกยางรถยนต์มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ และยุโรป)
  2. อุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บางและวัสดุแผ่น (ไม้อัด ไม้บาง มียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้ในการก่อสร้าง  ด้านการส่งออกไม้ปาร์ติเกิลบอร์ดมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศตะวันออกกลาง
  3. อุตสาหกรรมอาหาร (ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลกระป๋อง เช่น ปลาทูน่าและปลาซาดีน มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากประเทศญี่ปุ่นและแอฟริกาใต้ ผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส มีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นจากสหรัฐฯ

 

อุตสาหกรรมในภาคใต้ที่ส่งผลด้านลบ ต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่
 
อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์และสุขภาพ (อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องมือแพทย์ หลอดฉีดยา       มีคำสั่งซื้อลดลงจากโรงพยาบาลและคลินิก เนื่องจากลูกค้ามีสินค้าในสต๊อกปริมาณสูง ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดสหรัฐฯ และญี่ปุ่น)
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 98.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 96.1 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดรับคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ
 
ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามการส่งออก
 
ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จำแนกตามร้อยละของการส่งออกต่อยอดขายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จากการสำรวจพบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2562 ขณะที่กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ ปรับตัวลดลงจากเดือนมกราคม โดยมีรายละเอียดดังนี้
 
กลุ่มที่มีการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 50 ของยอดขาย (เน้นตลาดในประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 92.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 90.1 ในเดือนมกราคม 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ ผลประกอบการ
 
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์,อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม, อุตสาหกรรมยา เป็นต้น
 
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 105.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากระดับ 104.1 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
กลุ่มที่มีการส่งออกตั้งแต่ร้อยละ 50 ของยอดขายขึ้นไป (เน้นตลาดในต่างประเทศ) ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 อยู่ที่ระดับ 106.9 ปรับตัวลดลงจากระดับ 109.1 ในเดือนมกราคม 2562 องค์ประกอบดัชนีฯ ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
สำหรับอุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีฯ ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ, อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ, อุตสาหกรรมไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม เป็นต้น
ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 104.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.3 ในเดือนมกราคม องค์ประกอบดัชนีฯ คาดการณ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ
 
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการประกอบการอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ สถานการณ์การเมืองในประเทศ
 
ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ
 
  1. เสนอให้ภาครัฐหามาตรการในเชิงรูปธรรม เพื่อสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมไทยให้สามารถปรับตัวและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับยุค Disruptive Technology
  2. เสนอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงนวัตกรรมได้
  3. เสนอให้ภาครัฐเร่งเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี FTA กับกลุ่มประเทศที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าร่วมกัน อาทิ กลุ่มประเทศยูโรโซน ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยูเรเซีย
 
อ่านต่อ