บพค. จัดงานประชุมวิชาการ “PMU-B Brainpower Congress 2023 : Frontier Research to Future Industries by I conNEXT with U”

บพค. - อบก. ร่วมยกระดับการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์งานวิจัย ที่ตอบสนองต่อความเป็นกลางทางคาร์บอน

อัปเดตล่าสุด 22 ธ.ค. 2566
  • Share :
  • 670 Reads   

บพค. จัดงานประชุมวิชาการ “PMU-B Brainpower Congress 2023 : Frontier Research to Future Industries by I conNEXT with U” ภายใต้แนวคิด “ร่วมกันสร้างและขับเคลื่อนงานวิจัยขั้นแนวหน้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” พร้อมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ตอบสนองต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

วันที่ 18 ธันวาคม 2566 - หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากําลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) สํานักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยงานในกำกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงานประชุมวิชาการ “PMU-B Brainpower Congress 2023 : Frontier Research to Future Industries by I conNEXT with U” ภายใต้แนวคิด “ร่วมกันสร้างและขับเคลื่อนงานวิจัยขั้นแนวหน้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ระหว่างวันที่ 18 - 20 ธันวาคม 2566  ณ โรงแรมดุสิตธานี หัวหิน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อยกระดับและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนากําลังคนสมรรถนะสูง (Brainpower development) และสร้างเครือข่ายงานวิจัยขั้นแนวหน้าล้ำยุคร่วมกับนักวิจัย อาจารย์ นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องกว่า 80 หน่วยงาน รวมทั้งสิ้นกว่า 700 ท่าน  เพื่อเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ความก้าวหน้าการดำเนินงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทย พร้อมกันนี้ ยังเป็นการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่งานวิจัยและนวัตกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งการเสวนาวิชาการ ปาฐกถาพิเศษ การบรรยายจากผู้ทรงคุณวุฒิจากสหสาขาของประเทศไทย และการนำเสนอผลงานวิจัยในรูปแบบปากเปล่า (Oral Presentation) และโปสเตอร์ (Poster Presentation) เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดงานวิจัยของนักวิจัยและผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

บพค. เป็น 1 ใน 9 หน่วยงานด้านการบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit, PMU) ภายใต้การจัดสรรทุนของกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยรับผิดชอบแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ พ.ศ. 2566 – 2570 ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมระดับขั้นแนวหน้าที่ก้าวหน้าล้ำยุค เพื่อสร้างโอกาสใหม่และความพร้อมของประเทศในอนาคต และยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนากำลังคนและสถาบันด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เป็นฐานการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศแบบก้าวกระโดดและอย่างยั่งยืน โดยใช้วิทยาศาสตร์ การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งดำเนินการสนับสนุนทุนวิจัยให้ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Disruptive Technology ที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมนุษย์อย่างฉับพลัน อาทิ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) อาหารแห่งอนาคต การแพทย์ส่วนบุคคล โดย บพค. ได้นำเอา Demand จากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ตลอดจนมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศ (GERD) ให้ได้ถึงร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ภายในปี พ.ศ. 2570 เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ในปี พ.ศ. 2580 จึงได้กำหนดจัดงานประชุมวิชาการ “PMU-B Brainpower Congress 2023 : Frontier Research to Future Industries by I conNEXT with U – ร่วมกันสร้างและขับเคลื่อนงานวิจัยขั้นแนวหน้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เปิดเผยว่า “งานประชุมวิชาการ PMU-B Brainpower Congress 2023 : Frontier Research to Future Industries จัดขึ้นภายใต้แนวคิด I conNEXT with U โดยมาจากคำว่า I (Industries) หมายถึง อุตสาหกรรม conNEXT คือการเชื่อมโยง ร่วมกันทำงานและก้าวเดินไปด้วยกัน และ with U อันหมายถึง นักวิจัยทุกท่าน รวมกันเป็น I conNEXT with U อันหมายถึง ภาคอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยง ทำงานและจับมือก้าวเดินต่อไปร่วมกัน มีวัตถุประสงค์ในการจัดงาน 5 ประการ ดังนี้  1) เพื่อเป็นเวทีในการรายงานความก้าวหน้าของนักวิจัยที่ได้รับทุนจาก บพค. ในปีงบประมาณ 2564 -2566 ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 2) เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการนำผลวิจัยด้านการพัฒนากำลังคน งานวิจัยขั้นแนวหน้า งานวิจัยทางด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน งานวิจัยทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษย์ศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ไปใช้ประโยชน์นำสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน 3) เพื่อรับทราบเป้าหมายและกระตุ้นให้มีการส่งเสริมงานวิจัยขั้นแนวหน้า งานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งสังคม ภาคอุตสาหกรรม เพื่อการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้าและระบบการพัฒนากำลังคนที่ยั่งยืน 4) เพื่อให้เกิดความร่วมมือทางวิชาการ และการมีส่วนร่วม (Engagement) ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน และ 5) เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เกิดกลไกสนับสนุนและพัฒนาการวิจัย รวมถึงส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงผู้ผลิตงานวิจัยและผู้ใช้ประโยชน์ โดยการบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ และต่างประเทศ ซึ่ง บพค. ได้เล็งเห็นโอกาสในการยกระดับและเสริมสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนากำลังคน Brain power ผ่านนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิด High Caliber Impact Oriented Researcher แก่ระบบการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทย”

รองศาสตราจารย์ ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานเปิดงานประชุมฯ กล่าวถึงการจัดงานในครั้งนี้ว่า “บพค. เป็นหน่วยบริหารและจัดการทุนภายใต้กระทรวง อว. ที่มีความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย “กำลังคน เรียนดี มีความสุข มีรายได้” และ “วิจัย-นวัตกรรมดี ตอบโจทย์ความต้องการ” สนับสนุนการพัฒนากำลังคนควบคู่ไปกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยสนับสนุนการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีสมรรถนะ/ทักษะสูง ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ผ่านกลไกและแพลตฟอร์มหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนากำลังคน Brainpower ที่มีทักษะความเชี่ยวชาญ/แรงงานที่จำเป็น และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยเพื่ออุตสาหกรรมและบริการในอนาคต เพื่อรองรับการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล นอกจากนี้ บพค. ยังสนับสนุนการวิจัยทางด้านมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ ที่เกี่ยวกับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม Creative content ในมิติฐานวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ 3F – Film, Festival, Fashion เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์และขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power เพื่อสร้างองค์ความรู้ที่จะสร้างกลไกทางสังคมเพื่อวางรากฐานแนวคิด หรือวิถีชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่และสภาพแวดล้อมดิจิทัลให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด รวมถึงการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และพร้อมพัฒนาสู่อนาคต รวมทั้งได้รับการยอมรับในระดับสากลอีกด้วย”

โอกาสนี้ รองศาสตราจารย์ ดร. วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ด้านวิทยาศาสตร์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บพค. ได้ให้เกียรติขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษแก่ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิจัย และผู้เข้าร่วมงาน ในหัวข้อ “อนาคตและความท้าทายของการพัฒนาและยกระดับงานวิจัยขั้นแนวหน้าสู่เวทีระดับโลก” ว่า กระทรวง อว. มีทิศทางการขับเคลื่อนประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้ได้มากที่สุด สร้างกำลังคนให้มีแนวคิดและทักษะทางเจตคติที่ดีต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังคนที่เป็นมันสมองในระดับแนวหน้าหรือกำลังคนทักษะสูงที่เรียกว่า Brainpower จริงๆ นั้น ซึ่งยังคงไม่เพียงพอ จึงต้องเร่งสร้าง เร่งค้นหา ดึงเอาศักยภาพของคนเหล่านี้ขึ้นมานำให้ได้ นอกจากนี้แล้วสิ่งที่ต้องสร้างสรรค์และสนับสนุนต่อยอดกันต่อไป คือ งานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) ประเทศไทยนั้นมีข้อได้เปรียบกว่าประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องของทรัพยากรที่หลากหลาย ขนาดพื้นที่ประเทศกว้างใหญ่ และยังมีโครงสร้างพื้นฐานหลายประการที่สามารถช่วยให้การทำวิจัยไปถึงจุดคานงัดหรือจุดเปลี่ยนที่สำคัญของประเทศได้ ตลอดจนการเปลี่ยนให้งานวิจัยขึ้นหิ้งเป็นงานวิจัยขึ้นห้าง เพื่อเปลี่ยนผ่านการทำวิจัยที่สิ้นสุดเพียงการตีพิมพ์แล้วไม่สามารถก่อให้เกิดมูลค่าทางการตลาดได้ เป็นการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ส่งเสริมเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล

นอกจากนี้ ภายในงานประชุมวิชาการ PMU-B Brainpower Congress 2023 ยังมีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้กรอบความร่วมมือ “การขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” ระหว่าง บพค. ร่วมกับ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อยกระดับการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์งานวิจัยที่ตอบสนองต่อเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามแนวทางนโยบายของรัฐบาล ตลอดจนเวทีเสวนาวิชาการภายใต้หัวข้อ “Learning Ecosystem for Frontier Research to Future Industries” โดยมีวิทยากรเข้าร่วมการเสวนา ได้แก่ ดร.จิรวัฒน์ ตั้งปณิธานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ควอนตัม เทคโนโลยี ฟาวเดชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผศ. ดร.วิภู รุโจปการ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) และ ผศ. ดร.กมล จิราพงษ์ คณบดีคณะดิจิทัลมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีปทุม โดย ผศ.ดร.ปริปก พิศสุวรรณ รองผู้อำนวยการ บพค. เป็นผู้ดำเนินรายการ และเวทีเสวนาวิชาการ หัวข้อเรื่อง “การเพิ่มขีดความสามารถของ Soft Skill ขั้นสูงให้กับนักวิจัยทักษะสูงของ บพค. เพื่อส่งเสริมความสามารถในการดำเนินงานวิจัยร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ” มีวิทยากรเข้าร่วม อาทิ ศ. ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการ บพค. ดร.วิศิษฐ ทวีปรังษีพร ประธานกรรมการบริหารบริษัท SKAI MED (Thailand) และ ดร.รักษ์ชัย เร่งสมบูรณ์ ประธานกรรมการบริหารบริษัท ฟรุตต้าไบโอเมต จำกัด โดยมี คุณหนุ่ย พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ในการนี้ ยังมีกิจกรรมเปิดตัวแพลตฟอร์ม National Postdoctoral/Postgraduate Training System of Thailand ในการสร้างและพัฒนากำลังคนทักษะสูง พร้อมการแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยในรูปแบบโปสเตอร์กว่า 313 ผลงาน และมีโชว์การแสดงพิเศษภายในงาน เรื่อง “พลังแห่ง Film Academy เพื่อสนับสนุนการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูง Soft power ด้าน Film โดย บพค.”

พร้อมด้วยการจัดแสดงผลงานวิจัยจากภาคีเครือข่ายนักวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนตั้งแต่ปี 2564 – 2566 อีกด้วย อาทิ Coding/AI Technology, AI/Robotics for all, Metaverse for Film, Thailand Creative Industry, Code Combat, CMU STeP, ASEAN Talent Mobility และอื่นๆ มากมายกว่า 15 นิทรรศการ ซึ่งก่อให้เกิดการสร้างความรับรู้ความก้าวหน้าในการดำเนินงานวิจัยของนักวิจัยภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจาก บพค. แก่สาธารณะชนได้อย่างทั่วถึง

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH