ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย, อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย 2023

สภาอุตฯ ชงรัฐรักษาฐานการผลิต ยกระดับชิ้นส่วนไทย สู่ยานยนต์สมัยใหม่

อัปเดตล่าสุด 12 ธ.ค. 2566
  • Share :
  • 1,018 Reads   

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โดย Cluster of  FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE จัดทำข้อเสนอต่อแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดยมุ่งเน้นให้ภาครัฐรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของโลก สร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และยกระดับชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อมุ่งการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Parts Transformation) 

วันที่ 12 ธันวาคม 2566 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ส.อ.ท. มีนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ซึ่งประกอบไปด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่ (Next-Gen Industries) ซึ่งมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve อีกทั้งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐาขอให้ ส.อ.ท. จัดทำ Action Plan ในแต่ละข้อเสนอ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะประเด็นยานยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) จึงเป็นที่มาของ ส.อ.ท. ในการจัดตั้ง Cluster of  FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อจัดทำข้อเสนอและขับเคลื่อนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ควบคู่กับภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ONE FTI

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวว่า การจัดตั้ง Cluster of  FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE มีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) กว่า 14 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานภายนอก เช่น สถาบันยานยนต์ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

นางสาวยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ด้วยบริบทของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยที่ประสบกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการผลิตในบริบท Technology Disruption รวมถึงมีการออกมาตรการที่ชัดเจนว่าตั้งแต่ปี 2573 (ค.ศ. 2030) จะมีการขายยานยนต์ประเภทสันดาปภายในให้ลดลง โดยเฉพาะในประเทศยุโรป และสหรัฐอเมริกา ประเทศไทยจึงต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยยกระดับชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อมุ่งการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่

อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานกว่า 750,000 คน และเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลกด้วยการมีปริมาณการผลิตลำดับที่ 10 ของโลก และมีการส่งออกว่า 170 ประเทศทั่วโลก และจะยังคงต้องพึ่งพาการผลิตยานยนต์ ทั้งประเภทสันดาปภายใน (ICE :Internal Combustion Engine) เพื่อรักษาการจ้างงาน และเตรียมความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่ภาครัฐเริ่มมีมาตรการส่งเสริม จนทำให้นักลงทุนในต่างประเทศเริ่มมาลงทุนในอุตสาหกรรมมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ Cluster of FTI Future Mobility-ONE จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย ภายใต้แนวคิด “Strong global production hub with industry transformation” โดยคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) รวม 2,500,000 คัน จะมีสัดส่วนการผลิตที่เป็นรถยนต์ Future ICE  คิดเป็น 70% หรือ 1,750,000 คัน และรถยนต์ประเภท ZEV  คิดเป็น 750,000 คัน โดยเห็นว่า การที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตยานยนต์ทั้ง 2 ประเภทนี้ ภาครัฐจะต้องมีแนวทางในการส่งเสริม ผ่านมาตรการสนับสนุนที่จำเป็น โดยจะขอนำเสนอ ดังนี้

1.  ข้อเสนอสำหรับ Future ICE (70@30) : รักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก

1) ผลักดันให้เกิดการขยายตลาดการส่งออกยานยนต์และชิ้นส่วนในกลุ่มอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing: REM) ไปยังกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ประเภทสันดาปภายใน (Internal Combustion Engine: ICE)

ข้อเสนอ

1. เร่งรัดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ ICE เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้
2. ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิต REM หรือส่วนแต่งรถ (Performance Parts) รวมถึงจัดทำแผนพัฒนาอุตสาหกรรม

เป้าหมาย

  • ปริมาณการส่งออก จำนวน 1.5 ล้านคัน ในปี 2573
  • การส่งออกชิ้นส่วน REM เพิ่มขึ้น 200% ในปี 2573

2) ส่งเสริมการผลิต Future ICE เพื่อรักษาสัดส่วนความคุ้มทุน (Economy of Scale) ให้สามารถแข่งขันได้

ข้อเสนอ

1.  หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อออกมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ในกลุ่ม Future ICE (Product champion, HEV, PHEV, REEV)
2.  สนับสนุนแนวทางการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ที่จะบังคับใช้ปี 2569
3.  ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดมาตรฐานมลพิษ ได้แก่ Euro 5 สำหรับรถจักรยานยนต์ และ Euro 6 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ให้มีความเหมาะสม

เป้าหมาย

  • ยอดการผลิต Future ICE เป็น 70% ของทั้งหมดในปี 2573

3) ยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยานยนต์สมัยใหม่

ข้อเสนอ

1.  หารือร่วมกับ BOI เพื่อสร้างกลไกการจับคู่บริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยกับต่างชาติ เพื่อเพิ่มโอกาสสำหรับการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (Localization) และต่อยอดสู่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronic Parts)
2.  จัดสรรงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมแรงงานเพื่อเข้าสู่ยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อเพิ่มทักษะด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical Skills)  
3.  สนับสนุนการพัฒนาสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในรูปแบบกองทุน หรือการกำหนดมาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุน และการเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการคาร์บอนจากประเทศต่างๆ
4.  สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness)

เป้าหมาย

  • แรงงานเพิ่มทักษะใหม่ 30% ในปี 2570
  • เพิ่มสัดส่วนการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics Part) ภายในประเทศ 30%
  • ผู้ประกอบการ 50% ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO) และคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Carbon Footprint of Product : CFP) ในปี 2571
  • เตรียมความพร้อมของผู้ประกอบการสำหรับนโยบายของค่ายยานยนต์ที่กำหนดนโยบาย Carbon Neutral ในปี 2578

2.  ข้อเสนอสำหรับ ZEV (30@30) : สร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่  เตรียมพร้อมทิศทาง Carbon Neutrality

1) ผลักดันนโยบายและมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งระบบนิเวศ (Ecosystem)

ข้อเสนอ : ผลักดันไปยังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ สนับสนุนและอำนวยความสะดวกมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในทุกมิติ

เป้าหมาย : ยอดการผลิต ZEV เป็น 30% ของทั้งหมดในปี 2573

2) ขยายการส่งออก ZEV ไปยังประเทศที่มีศักยภาพ

ข้อเสนอ : หารือร่วมกับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เพื่อเร่งรัดการเจรจาข้อตกลง FTA โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่มีแนวทางการยกเลิกการใช้เครื่องยนต์ ICE เช่น สหภาพยุโรป หรือสหรัฐอเมริกา

เป้าหมาย : ปริมาณการส่งออกยานยนต์ทั้งหมด จำนวน 1.5 ล้านคัน ในปี 2573

3) สนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่ผลิต EV Niche Market เช่น รถเมล์ เรือ รถบัส รถตุ๊กตุ๊ก

ข้อเสนอ : นำเสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อให้เกิดการสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับผู้ประกอบการที่ผลิต EV Niche Market เช่น รถเมล์ เรือ รถบัส รถตุ๊กตุ๊ก

เป้าหมาย : ส่งเสริมให้ผู้ผลิตที่เป็นคนไทยมีองค์ความรู้ในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านในเชิงเทคโนโลยี เพื่อรักษาธุรกิจ การจ้างงาน พร้อมทั้งการยกระดับการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต โดยสำหรับข้อเสนอดังกล่าว จะเหมาะสมกับความสามารถของผู้ประกอบการชิ้นส่วนยานยนต์ที่สามารถพัฒนาได้ รวมถึงผู้ประกอบการที่จะต้องเปลี่ยนธุรกิจไปประเภทอื่น ๆ ใกล้เคียง ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว จึงมีข้อเสนอต่อการเปลี่ยนผ่านเพิ่มเติม ดังนี้

3.  ข้อเสนอสำหรับการผลักดันให้ชิ้นส่วนยานยนต์ไทยปรับตัวสู่อุตสาหกรรมสมัยใหม่ (Parts Transformation)

ผลักดันให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนพัฒนาไปอุตสาหกรรมใกล้เคียงเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเปลี่ยนผ่านตัวเองได้ เช่น ระบบราง เครื่องมือแพทย์

ข้อเสนอ

1.  หารือร่วมกับกรมบัญชีกลางในผลักดันมีการกำหนดสัดส่วนปริมาณการใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ (local content) หรือออกนโยบายสนับสนุนการซื้อหรือผลิตเพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain) ของอุตสาหกรรมอื่นรวมถึงการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าใหม่นอกอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตโดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เพื่อการสนับสนุนการทำธุรกิจใหม่ของผู้ผลิตชิ้นส่วน ICE ในปัจจุบัน
2.  เพิ่มทักษะแรงงานด้านเครื่องกล (Mechanical Skills) ไปสู่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ (Electrical Skills) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมใหม่ (รวมถึงการกลับเข้าไปสู่ยานยนต์อัตโนมัติ (Connected and Autonomous Vehicle :CAV) และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์กำลัง (Power Electronics) ได้ด้วย)

เป้าหมาย

  • 20% ของ หลักทรัพย์การลงทุนของบริษัท (portfolio) ในปี 2573

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH