METI ผนึก กฟผ. บริษัทญี่ปุ่น CYD – MOL – MCT ผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน แอมโมเนียสะอาด

METI ผนึก กฟผ. และ 3 บริษัทชั้นนำญี่ปุ่น ร่วมศึกษาพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจน - แอมโมเนียสะอาด

อัปเดตล่าสุด 30 พ.ย. 2566
  • Share :
  • 517 Reads   

METI มอบทุนให้ กฟผ. และบริษัทชั้นนำญี่ปุ่น CYD – MOL – MCT เดินหน้า ‘ศึกษาและพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดฯ บนพื้นที่ศักยภาพ กฟผ.’ เพิ่มเสถียรภาพผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ร่วมขับเคลื่อนและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ลด CO2 ขับเคลื่อนสู่พลังงานสีเขียวเต็มรูปแบบ

วันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 - นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน พร้อมด้วยนายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นายยาสุฮิโระ อิโนอุเอะ ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายธุรกิจไฮโดรเจน บริษัท ชิโยดะ คอร์ปอเรชั่น (CYD) นายเรียวสุเกะ สุกิโมโต้ ผู้แทนใหญ่ประจำประเทศไทยบริษัท มิตซุย โอ.เอส.เค ไลน์ จำกัด (MOL) และนายฮิโรยาสุ ซาโต้ ประธานบริษัท มิตซูบิชิ (ประเทศไทย) จำกัด (MCT) ร่วมพิธีเริ่มต้นศึกษาความเป็นไปได้ของห่วงโซ่คุณค่าไฮโดรเจนสะอาดของ กฟผ.

ซึ่งดำเนินการภายใต้ MOU โครงการผลิตไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาดจากพลังงานหมุนเวียนบนพื้นที่ศักยภาพในภาคใต้ของ กฟผ. ที่กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น (METI) มอบทุนให้ กฟผ. และ 3 บริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นร่วมศึกษาและพัฒนาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในต่างประเทศ พร้อมประชุมเริ่มต้นโครงการร่วมกัน โดยมีขอบเขตความร่วมมือศึกษาการขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในไทยและต่างประเทศ รวมถึงศึกษาโครงสร้างพื้นฐานด้านห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การจัดเก็บ และการประมาณต้นทุนเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาด ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ. จ.นนทบุรี

นายนะชิดะ คะสุยะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย กล่าวว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมองว่าตลาดไฮโดรเจนเป็นทั้งตลาดอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และสร้างงานของโลก รวมถึงยังเป็นกุญแจสำคัญสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality ภายในปี 2050 ความร่วมมือนี้จึงสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของทั้งรัฐบาลญี่ปุ่นและไทยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงไปสู่พลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าหมายการลงทุนไว้กว่า 150 ล้านล้านเยน สำหรับการวิจัยและสำรวจศักยภาพเชิงพาณิชย์ของพลังงานไฮโดรเจน ด้วยความร่วมมือของทั้งสองประเทศจะเป็นตัวเร่งและเตรียมพร้อมในการสร้างห่วงโซ่คุณค่าไฮโดรเจนทั้งในภูมิภาคอาเซียนและระดับโลกต่อไปในทศวรรษหน้า

ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ประเทศไทยในฐานะสมาชิกของประชาคมโลกและเอเชียมีความมุ่งมั่นเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งไทยโดยกระทรวงพลังงานพร้อมเดินหน้าส่งเสริมลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคพลังงานทุกวิถีทาง การศึกษาความเป็นไปได้ของห่วงโซ่คุณค่าไฮโดรเจนสะอาดของ กฟผ. ด้วยการสนับสนุนจาก METI ที่คาดว่าแล้วเสร็จภายในปี 2567 จะมีส่วนช่วยผลักดันแผนการพัฒนาไฮโดรเจน ซึ่งนอกจากจะทำให้เป้าหมายลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำเร็จแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเกิดความยืดหยุ่นด้านพลังงานเป็นผลประโยชน์ร่วมกันในระยะยาว

ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง รักษาการผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทยและเป็นแนวหน้าในการพัฒนาโครงการพลังงานทดแทนของประเทศมาโดยตลอด ได้นำไฮโดรเจนเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า ความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเร่งการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงไฮโดรเจนและแอมโมเนียสะอาด เปิดมิติใหม่ในการยกระดับมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย EGAT Carbon Neutrality โดยทุนสนับสนุนนี้จะช่วยพัฒนาต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานบนพื้นที่ศักยภาพที่พร้อมรองรับการพัฒนาของ กฟผ. ด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยีของญี่ปุ่น เพื่อร่วมสร้างความแข็งแกร่งด้านพลังงานที่ยั่งยืนซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH