ไทยเนื้อหอม ยักษ์ไอทีจ่อลงทุน Data Center บีโอไอชู 5 จุดแข็ง หนุนไทยฮับเศรษฐกิจดิจิทัล
ประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจจากบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีหลายแห่ง เตรียมลงทุนใน Data Center และ Cloud Service อย่างคึกคัก บีโอไอ ชู 5 จุดแข็ง ดันไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน 37 โครงการ มูลค่ากว่า 98,000 ล้านบาท
1 กรกฎาคม 2567 นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายที่เป็นจุดยุทธศาสตร์ในการลงทุน Data Center และ Cloud Service เพื่อรองรับการขยายตัวของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI และบริการด้านดิจิทัลต่าง ๆ ที่กำลังเติบโตสูงในภูมิภาค เนื่องจากมีข้อได้เปรียบอย่างน้อย 5 ด้าน คือ
(1) ทำเลที่ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางที่สามารถเชื่อมต่อกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะศักยภาพในการเป็น Connecting Hub สำหรับกลุ่มประเทศ CLMVT ที่มีประชากรรวมกันกว่า 250 ล้านคน
(2) มีความมั่นคง ปลอดภัยสูง มีความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติต่ำ Data Center เป็นธุรกิจที่ต้องการความมั่นคงสูง เพราะต้องรักษาข้อมูลสำคัญของลูกค้าในปริมาณมหาศาล ซึ่งประเทศไทยได้เปรียบในเรื่องนี้ เนื่องจากไม่มีแผ่นดินไหว ไต้ฝุ่น หรือภัยพิบัติรุนแรงเหมือนหลาย ๆ ประเทศ อีกทั้งไทยมีความเป็นกลาง ไม่ใช่ประเทศคู่ขัดแย้งในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังมีกฎระเบียบด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานสากล เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) และกฎหมายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security Act) ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุน
(3) โครงสร้างพื้นฐานมีคุณภาพสูง ทั้งระบบไฟฟ้าที่มีความเสถียร และมีศักยภาพในการจัดหาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการลงทุน Data Center อีกทั้งมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงติด 1 ใน 10 ของโลก และเครือข่าย 5G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในอาเซียน สามารถรองรับการส่งข้อมูลได้ในปริมาณสูง
(4) ตลาดในประเทศขยายตัวสูง ทั้งดีมานด์จากการยกระดับองค์กรต่าง ๆ ไปสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) การกำหนดนโยบาย Cloud First Policy ของรัฐบาล สัดส่วนการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับสูงถึงร้อยละ 88 ของประชากร มีผู้ใช้งาน Social Media กว่าร้อยละ 70 ของประชากร และประชาชน มีทักษะในการทำธุรกรรมการเงินผ่านระบบดิจิทัล เช่น PromptPay, Mobile Banking, e-Payment รวมทั้งการใช้แอปพลิเคชันเพื่อรับสิทธิตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา
(5) สิทธิประโยชน์ที่จูงใจจากบีโอไอ ไม่ว่าจะเป็นการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล การอนุญาตให้ถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการที่ได้รับการส่งเสริม การอำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน การลดหย่อนภาษีเงินได้สำหรับบุคลากรทักษะสูง การบริการข้อมูลและช่วยจัดหาสถานที่ตั้งโครงการ การช่วยประสานงานในการขอใบอนุญาตจากหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากกติกาภาษีใหม่ (Global Minimum Tax) ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกให้ความสำคัญ
ปัจจุบันมีโครงการ Data Center และ Cloud Service ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ รวม 37 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 98,539 ล้านบาท ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ชลบุรี และระยอง โดยมีบริษัทชั้นนำระดับโลกได้เข้ามาลงทุนจัดตั้ง Data Center ในประเทศไทยแล้วหลายราย อาทิ Amazon Web Service (AWS) ที่ประกาศลงทุน Data Center ในไทยกว่า 2 แสนล้านบาท ภายในปี 2580 โดยในเฟสแรก ได้ลงทุนสร้าง Data Center แล้ว 3 แห่ง เงินลงทุนกว่า 25,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการ NextDC จากออสเตรเลีย ลงทุน 13,700 ล้านบาท STT GDC จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,500 ล้านบาท Evolution Data Center จากสิงคโปร์ ลงทุน 4,000 ล้านบาท Supernap (Switch) จากสหรัฐอเมริกา ลงทุน 3,000 ล้านบาท Telehouse จากญี่ปุ่น ลงทุน 2,700 ล้านบาท One Asia จากฮ่องกง ลงทุน 2,000 ล้านบาท รวมทั้ง Google และ Microsoft ผู้ให้บริการระดับโลก ได้ประกาศแผนลงทุน Data Center ในประเทศไทยแล้ว โดยอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดร่วมกับบีโอไอและทีมงานของนายกรัฐมนตรี
สำหรับธุรกิจการให้บริการคลาวด์ (Cloud Service) มีบริษัทชั้นนำที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอ เช่น Alibaba Cloud ลงทุนกว่า 4,000 ล้านบาท และ Huawei Technologies ลงทุนกว่า 3,000 ล้านบาท นอกจากบริษัทชั้นนำจากต่างประเทศแล้ว ยังมีผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพสูงอีกหลายรายที่ลงทุนในธุรกิจ Data Center และ Cloud Service ด้วย เช่น บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต ดาต้า เซ็นเตอร์, บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย และบริษัท GSA ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Gulf, Singtel และ AIS
นอกจากธุรกิจ Data Center และ Cloud Service แล้ว บีโอไอยังส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิทัลอย่างครบวงจร ทั้งการพัฒนาซอฟต์แวร์ แพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล ดิจิทัลคอนเทนต์ และกิจการสนับสนุนระบบนิเวศด้านดิจิทัล เช่น กิจการ Innovation Park, กิจการ Maker Space หรือ Fabrication Lab และกิจการพัฒนาพื้นที่และระบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City) โดยที่ผ่านมา มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์การส่งเสริมให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และเอื้อต่อการลงทุนในธุรกิจดิจิทัลที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
“กิจการ Data Center และ Cloud Service ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของโลกยุคใหม่การตัดสินใจเข้ามาลงทุนในไทยของผู้ให้บริการระดับ Hyperscale อย่าง AWS, Google, Microsoft รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำจากหลายประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่เหมาะสมในการประกอบธุรกิจดิจิทัล ทั้งในแง่สภาพแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพของบุคลากร และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐ ประโยชน์ของโครงการลงทุนเหล่านี้ จะช่วยสร้างงานทักษะสูง ทั้งทางตรงและทางอ้อมในสายงานด้านโทรคมนาคม สาธารณูปโภค ธุรกิจ ให้คำปรึกษา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อีกทั้งช่วยให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าถึงบริการ Cloud ที่มีคุณภาพสูง และเทคโนโลยีดิจิทัลอื่น ๆ ได้ง่ายขึ้น ช่วยเร่งกระบวนการ Digital Transformation สนับสนุนการพัฒนาธุรกิจ ที่จำเป็นต้องใช้ความเร็วสูงในการรับ-ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ รวมทั้งต่อยอดให้ไทยก้าวสู่ การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาค” นายนฤตม์ กล่าว
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- ยอดขายรถยนต์ 2566
- คาร์บอนเครดิต คือ
- อบรมรถยนต์ไฟฟ้า 2567
- Apple ครองตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมียมในปี 2023
- การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายไร้สาย 5G
- ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 2566
- สถิติส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปี 2566
- เทคโนโลยีในงานโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง
- กฎหมาย ปล่องระบาย อากาศ
- solid state battery คือ
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH