แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาส 4/2567

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาส 4/2567

อัปเดตล่าสุด 16 ธ.ค. 2567
  • Share :
  • 1,720 Reads   

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญในไตรมาสที่ 4/2567 คาดการณ์การผลิตจะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ด้านการบริโภคและการนำเข้ายังคงขยายตัว

เหล็กและเหล็กกล้า คาดการณ์การผลิตจะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการบริโภคและการนำเข้ายังคงขยายตัว เนื่องจากราคาเหล็กในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลง และปริมาณการผลิตเหล็กของประเทศจีนยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับอุปสงค์เหล็กในประเทศจีนยังคงหดตัวจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ทำให้ประเทศจีนส่งออกสินค้าเหล็กมากขึ้น โดยมีตลาดอาเซียนเป็นตลาดส่งออกหลัก

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากกระแสความต้องการสินค้านวัตกรรมใหม่จากการพัฒนาเทคโนโลยี เช่น เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และผลิตภัณฑ์ Smart Electronics รวมทั้ง แนวโน้มการขยายตัวของ Smart City ที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์ความผันผวนของราคาวัตถุดิบ อาทิราคาน้ำมัน อาจมีผลทางอ้อมต่อการส่งสินค้าในภาคอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าดัชนีผลผลิตจะปรับตัวลงเล็กน้อย เนื่องจาก ความผันผวนของค่าเงินบาทที่แข็งค่าในระยะเวลาอันสั้นอาจส่งผลต่อคำสั่งซื้อในอนาคตที่อาจจะชะลอตัวลง ในขณะที่มูลค่าการส่งออกจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากความต้องการของตลาดโลกจากผลิตภัณฑ์ เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ สถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐอเมริกา หลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี และสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกาเนื่องจาก 2 ประเทศดังกล่าวเป็นตลาดส่งออกสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของไทย

รถยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะมีการผลิตรถยนต์ประมาณ 400,000 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3 ปี 2567 จากความเป็นไปได้ของมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น การผ่อนปรนเงื่อนไข การปล่อยสินเชื่อ รวมทั้ง แคมเปญลดราคาในช่วงงาน Motor Expo โดยการผลิตแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 40-45 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 55-60

รถจักรยานยนต์ ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 450,000 คัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 3 ปี 2567 จากความเป็นไปได้ของมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น การผ่อนปรนเงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อ แคมเปญลดราคาในช่วงงาน Motor Expo โดยการผลิตแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ คาดว่า เยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์ ที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์จะขยายตัวตามการบริโภคในประเทศ และจะขยายตัวได้ทั้ง supply chain สำหรับการส่งออกเยื่อกระดาษไปยังจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักในกลุ่มเยื่อกระดาษ ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ในขณะที่กลุ่มหนังสือและสิ่งพิมพ์ จะชะลอตัวต่อเนื่องจากความต้องการที่ลดลงของตลาดนำเข้า เช่น ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา

ไม้และเครื่องเรือน คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จากการผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในส่วนของการส่งออกไม้และผลิตภัณฑ์ไม้คาดการณ์ได้ว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าในกลุ่มไม้และผลิตภัณฑ์แผ่นไม้ที่เพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2566

ยาง และผลิตภัณฑ์ยาง คาดการณ์ได้ว่า ปริมาณการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม (ยางแผ่น ยางแท่ง และน้ำยางข้น) ยางรถยนต์ และถุงมือยาง จะขยายตัวทั้ง 3 ผลิตภัณฑ์ โดยยางแปรรูปขั้นปฐมและถุงมือยางจะขยายตัวจากความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะที่ยางรถยนต์จะขยายตัวจากความต้องการของตลาด REM (Replacement Equipment Manufacturing) ในประเทศเป็นหลัก

อัญมณีและเครื่องประดับ คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัว โดยมีปัจจัยสนันสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับนโยบายสนับสนุนการส่งออกของภาครัฐยังส่งเสริมให้สินค้ากลุ่มอัญมณีและ
เครื่องประดับเติบโตในทุกประเภท อีกทั้งการจัดงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับทั้งในและต่างประเทศ และการเข้าสู่เทศกาลสำคัญในช่วงปลายปีที่จะส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้นทำให้มีการจับจ่ายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งผู้นำในสหรัฐอเมริกา สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางอาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพในระดับโลก โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมัน และทองคำ ที่ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับภายในประเทศ

อาหาร คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มขยายตัว และการฟื้นตัวของภาคบริการ อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH