Foxsemicon ยักษ์ใหญ่ไต้หวัน ลงทุน 1 หมื่นล้าน ตั้งฐานผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำในไทย

Foxsemicon ยักษ์ใหญ่ไต้หวัน ลงทุน 1 หมื่นล้าน ตั้งฐานผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำในไทย

อัปเดตล่าสุด 11 ธ.ค. 2567
  • Share :
  • 1,882 Reads   

บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมลงทุนกลุ่ม Foxsemicon ในนามบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี ผู้ผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับต้นน้ำรายใหญ่จากไต้หวัน ทุ่มเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ตั้งฐานผลิตในไทย เป็นโรงงานแห่งที่ 4 ของโลก เสริมแกร่งฐานผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำของไทย สอดคล้องทิศทางนโยบายของบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ

11 ธันวาคม 2567 - นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงแห่งชาติ โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการผลักดันการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เกิดขึ้นในประเทศไทย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการ ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากบอร์ดบีโอไอ ได้อนุมัติคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนโครงการผลิตอุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักรผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ ของกลุ่ม Foxsemicon Integrated Technology Inc. (FITI) ในเครือของฟ็อกซ์คอนน์ (Foxconn) หนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของโลกจากไต้หวัน และเป็นซัพพลายเออร์สำคัญของบริษัท Applied Materials ผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำระดับโลก โดย Foxsemicon ได้ยื่นขอรับการส่งเสริมในนามบริษัท ยูนิค อินทิเกรตเต็ด เทคโนโลยี จำกัด มีมูลค่าเงินลงทุนในเฟสแรก 10,500 ล้านบาท ตั้งโรงงาน 2 แห่งที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ชลบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ ระยอง โดยเป็นโรงงานแห่งที่ 4 ในโลกของกลุ่ม Foxsemicon โดยก่อนหน้านี้มีโรงงานอยู่ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา 

กลุ่ม Foxsemicon เป็นบริษัทไต้หวันที่เป็นผู้นำในการผลิตอุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์แบบครบวงจร มีขีดความสามารถตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา การออกแบบ การผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์และโมดูลสำหรับเครื่องจักร โดยอาศัยจุดแข็งด้านเทคโนโลยีการผลิตที่มีความแม่นยำสูง และการผสมผสานระหว่างระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบอัตโนมัติเข้าด้วยกัน โดยโรงงานในประเทศไทยจะมีการจ้างงานบุคลากรไทยกว่า 1,400 คน เพื่อผลิตอุปกรณ์และโมดูลที่มีความแม่นยำสูงสำหรับเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ (Wafer Fabrication) ซึ่งคาดว่าจะสร้างมูลค่าส่งออกกว่า 6,000 ล้านบาทต่อปี และในระยะเริ่มต้นจะมีการใช้วัตถุดิบในประเทศในสัดส่วนกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งสิ้น โดยจะเพิ่มมากขึ้นในระยะต่อไป   

“การตัดสินใจลงทุนของบริษัท Foxsemicon ครั้งนี้ นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ผลิตอุปกรณ์ขั้นสูงสำหรับเครื่องจักรเซมิคอนดักเตอร์ต้นน้ำ เป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตอกย้ำถึงศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงอย่างเซมิคอนดักเตอร์ โดยก่อนหน้านี้มีบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เริ่มเข้ามาลงทุนในไทย ทั้งการออกแบบวงจรรวม (IC Design) การทดสอบ Wafer และ IC โดยบริษัท Analog Devices และการผลิตชิปต้นน้ำโดยบริษัท Hana เชื่อมั่นว่าจากนี้ไป จะมีการลงทุนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะหลังจากที่รัฐบาลได้ตั้งบอร์ดเซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ ซึ่งจะมีการกำหนดโรดแมป เป้าหมายที่ชัดเจนในแต่ละระยะ และมาตรการขับเคลื่อนในทุกมิติ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากร และการปรับปรุงระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง เพื่อยกระดับประเทศไทยให้เป็นฐานรองรับการลงทุนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมหลักอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัล โทรคมนาคม ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ หรืออุปกรณ์การแพทย์ในอนาคต” นายนฤตม์ กล่าว

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH