รัฐบาลจัดทัพกล่อมนักลงทุนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต ชูสิทธิประโยชน์ใหม่ จูงใจอัพเกรดสู่เทคโนโลยีอนาคต

รัฐบาลจัดทัพกล่อมนักลงทุนญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิต ชูสิทธิประโยชน์ใหม่ จูงใจอัพเกรดสู่เทคโนโลยีอนาคต

อัปเดตล่าสุด 24 มิ.ย. 2567
  • Share :
  • 461 Reads   

บีโอไอ ผนึกกำลังทีมไทยแลนด์ เดินหน้าเจรจาดึงนักลงทุนญี่ปุ่นร่วมสร้างฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยเปิดเวทีชูจุดแข็งประเทศไทย แจงมาตรการสนับสนุนและสิทธิประโยชน์ล่าสุด รองรับการย้ายฐานการผลิต และจัดตั้งสำนักงานภูมิภาค พร้อมสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ให้ยกระดับเทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ เผยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนไทย มูลค่ากว่า 8.7 แสนล้านบาท และยังขยายลงทุนต่อเนื่อง

24 มิถุนายน 2567 บีโอไอ ร่วมกับคณะผู้แทนการค้าไทย ทีมงานนายกรัฐมนตรี เอกอัครราชทูตไทยและกงสุลใหญ่ประจำประเทศญี่ปุ่น จัดคณะโรดโชว์การลงทุนไปเยือนญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 19 – 21 มิถุนายน 2567 นำโดยหม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย และนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เพื่อจัดงานใหญ่ “Thailand – Japan Investment Forum 2024” ร่วมกับธนาคาร MUFG ซึ่งเป็นธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น ณ กรุงโตเกียวและนครโอซากา โดยมีนักลงทุนญี่ปุ่นเข้าร่วมงานกว่า 400 ราย จากหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์และเซมิคอนดักเตอร์ ดิจิทัล อุตสาหกรรมชีวภาพ และกลุ่มการเงินการธนาคาร นอกจากนี้ ยังได้จัดประชุมเจาะลึกรายอุตสาหกรรม และกิจกรรมให้คำปรึกษารายบริษัท (BOI Clinic) รวมทั้งการพบหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมชีวภาพ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์   

หม่อมหลวงชโยทิต กฤดากร ประธานผู้แทนการค้าไทย ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Thailand’s Transforming Investment Landscape” ระบุว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญกับนักลงทุนญี่ปุ่น ซึ่งเป็นนักลงทุนต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาลงทุนขนาดใหญ่ในประเทศไทยมานานกว่า 50 ปี และมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานอุตสาหกรรมของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ และยังคงขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

“ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายวงกว้าง ได้สร้างความเสี่ยงให้กับภาคธุรกิจ ทำให้นักลงทุนระดับโลก รวมถึงนักลงทุนญี่ปุ่นจำเป็นต้องกระจายหรือย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มั่นคงและเป็นกลาง ซึ่งรัฐบาลไทยตระหนักถึงความท้าทายที่มาพร้อมกับโอกาสนี้ จึงได้มุ่งปรับปรุงกฎระเบียบและระบบนิเวศในการประกอบธุรกิจ เพื่อสร้างพื้นที่การลงทุนที่ไม่เพียงแต่ปลอดจากความขัดแย้งเท่านั้น แต่ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับนักลงทุนในด้านต่าง ๆ ด้วย” หม่อมหลวงชโยทิต กล่าว

หม่อมหลวงชโยทิต กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลกำลังเร่งผลักดันนโยบายต่าง ๆ ที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการค้าการลงทุนไทย เช่น การเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งปัจจุบันไทยมี FTA 15 ฉบับ ครอบคลุม 19 เขตเศรษฐกิจ และอยู่ระหว่างการเจรจาอีก 5 ฉบับ ได้แก่ FTA ไทย-อียู สมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA) เกาหลีใต้ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และภูฏาน ซึ่งจะช่วยเปิดตลาดการค้าและการลงทุนให้สามารถเข้าถึงตลาดได้กว้างขวางขึ้นอีกกว่า 30 ประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลยังมุ่งจัดหาแหล่งพลังงานสะอาดให้กับนักลงทุน รองรับแผนดำเนินธุรกิจที่มุ่งสู่เป้าหมายการลดคาร์บอน ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจและค้าขายระหว่างประเทศในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างความพร้อมของบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ผ่านโปรแกรมต่าง ๆ เช่น ความร่วมมือในการจัดตั้งสถาบันไทย-โคเซ็น ร่วมกับประเทศญี่ปุ่น และการจัดทำหลักสูตร Sandbox โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่มุ่งเน้นผลิตคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เช่น ด้าน AI ดิจิทัล เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการบีโอไอ ได้กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “Thailand's New Investment Incentives and Business Opportunities for Japanese Investors” ระบุว่า ญี่ปุ่นเป็นนักลงทุนอันดับ 1 ของไทยมานานหลายทศวรรษ ปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนในไทยกว่า 6,000 บริษัท นับว่ามากที่สุดในอาเซียน และมีบทบาทสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาตลอด  ในช่วงเวลาที่โลกเผชิญความท้าทายใหญ่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งระหว่างขั้วมหาอำนาจ ที่นำไปสู่สงครามการค้าและการปรับโครงสร้างซัพพลายเชนครั้งใหญ่ และวิกฤตโลกร้อนที่ทำให้ทุกฝ่ายมุ่งสู่การลดคาร์บอน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งรองรับการลงทุนที่มีความโดดเด่นและเหมาะสมสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น เพราะสามารถตอบโจทย์ทิศทางใหม่เหล่านี้ได้ ด้วยข้อได้เปรียบ 10 ด้าน ได้แก่ 

(1) ระบบสาธารณูปโภค โลจิสติกส์ และนิคมอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพ (2) โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ทั้งเครือข่าย 5G ดาต้าเซ็นเตอร์ระดับโลก และอัตราใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลในระดับสูง (3) ซัพพลายเชนครบวงจร โดยเฉพาะชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ (4) การเข้าถึงตลาดโลกผ่าน FTA ต่าง ๆ (5) บุคลากรที่มีคุณภาพ พร้อมพัฒนาทักษะไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ (6) การเปิดกว้างและอำนวยความสะดวกกลุ่มบุคลากรทักษะสูงจากต่างประเทศ (Talent) ผ่าน LTR Visa, Smart Visa และศูนย์ OSS (7) แหล่งพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพ ช่วยให้บริษัทสามารถบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน (8) ความเป็นกลาง เป็นพื้นที่ไร้ความขัดแย้ง (Conflict-Free Zone) (9) มีต้นทุนการประกอบธุรกิจที่เหมาะสม (10) ความน่าอยู่ของประเทศไทย และปัจจัยสนับสนุนการอยู่อาศัยของชาวต่างชาติ เช่น ที่พักอาศัยมาตรฐานสูง โรงเรียนนานาชาติกว่า 200 แห่ง และโรงพยาบาลมาตรฐานโลก JCI กว่า 60 แห่ง เป็นต้น          

“บีโอไอมุ่งมั่นที่จะดูแลและสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่น ให้เติบโตและขยายการลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในเทคโนโลยีขั้นสูงหรืออุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่เป็นเป้าหมายของประเทศ เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ดิจิทัล และอุตสาหกรรมชีวภาพ รวมทั้งการดึงบริษัทญี่ปุ่นรายใหม่ ๆ เข้ามาลงทุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ในซัพพลายเชนของอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังมองหาฐานการผลิตแห่งใหม่ นอกจากนี้ เรายังสนับสนุนให้ญี่ปุ่นใช้ไทยเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและพัฒนา และสำนักงานภูมิภาคอีกด้วย” นายนฤตม์ กล่าว

ในงาน Investment Forum ครั้งนี้ บีโอไอ ได้นำเสนอมาตรการใหม่ ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ซึ่งครอบคลุมทั้งรถยนต์ ICE, HEV, PHEV และ BEV  มาตรการส่งเสริมการย้ายฐานธุรกิจแบบครบวงจร มาตรการกระตุ้นการลงทุนเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ มาตรการยกระดับอุตสาหกรรมไปสู่ Smart and Sustainable Industry มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย เช่น EEC, ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค รวมทั้งการจัดตั้ง Startup Matching Fund ภายใต้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนความร่วมมือระหว่าง Startup ไทยกับญี่ปุ่นได้ด้วย  

ในส่วนของกิจกรรมประชุมเจาะลึกรายอุตสาหกรรม (Roundtable Meeting) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์มีผู้เข้าร่วมกว่า 80 ราย และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์กว่า 30 ราย นอกจากนี้ ยังมีบริษัทที่มีแผนจะเข้ามาลงทุนในไทย ได้เข้าร่วม BOI Clinic เพื่อสอบถามข้อมูลเชิงลึกอีกกว่า 20 ราย แสดงให้เห็นถึงความสนใจอย่างจริงจังของการลงทุนในไทย

นอกจากนี้ คณะผู้แทนการค้าไทยและบีโอไอ ยังได้เข้าพบหารือกับบริษัทชั้นนำของญี่ปุ่น 4 ราย เพื่อหารือแผนการลงทุนในประเทศไทยและการสนับสนุนจากภาครัฐ ได้แก่ (1) บริษัท MinebeaMitsumi ผู้นำด้านชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เซมิคอนดักเตอร์ และชิ้นส่วนอากาศยาน ได้หารือแผนการลงทุนพลังงานสะอาดและลดการปล่อยคาร์บอน (2) บริษัท Toray Industries ผู้นำด้านเส้นใย สิ่งทอ และเคมีภัณฑ์ ได้หารือแผนการลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (3) บริษัท Mitsui ผู้นำด้านพลังงาน โลหะ และเคมีภัณฑ์ ได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาโอกาสการลงทุนผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพและพลังงานสะอาด (4) TeamLab พิพิธภัณฑ์ศิลปะดิจิทัลระดับโลก (Immersive Digital Art Museum) ที่มีผู้เข้าชมติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลก โดยได้เชิญชวนให้พิจารณามาจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย 

ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีโครงการลงทุนจากญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริมมูลค่ารวมกว่า 8.7 แสนล้านบาท โดยในปี 2566 ที่ผ่านมา นักลงทุนญี่ปุ่นยื่นขอรับการส่งเสริม 264 โครงการ เงินลงทุน 79,151 ล้านบาท สำหรับไตรมาสแรกของปีนี้ มีโครงการจากญี่ปุ่นขอรับการส่งเสริม 74 โครงการ เงินลงทุน 14,981 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน อิเล็กทรอนิกส์ อาหารและเทคโนโลยีชีวภาพ

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH