ปัญหากากแคดเมียม และข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ปัญหากากแคดเมียม และข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมฯ

อัปเดตล่าสุด 18 เม.ย. 2567
  • Share :
  • 608 Reads   

ส.อ.ท. ชี้ปัญหากากแคดเมียม เผยข้อเสนอมาตรการระยะยาว พร้อมจับมือ กนอ. ออกมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor รับรองโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลมาตรฐาน ปัจจุบันรับรองแล้ว 16 แห่ง 

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยแถลงข่าว "ปัญหากากแคดเมียม และข้อเสนอของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในวันพุธ ที่ 17 เมษายน 2567 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1) ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (โรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก) มีภาระความรับผิดตาม ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566 โดยได้มีการดำเนินงานดังนี้ 

  • ในกรณีนี้ มีการขออนุญาตนำของเสียออกนอกโรงงานกับอุตสาหกรรมจังหวัดแล้ว
  • มีการขนกากแคดเมียมจากโรงงานถลุงแร่สังกะสีและแคดเมียม จังหวัดตาก ซึ่งขุดขึ้นมาจากหลุมฝังกลบกากอันตราย (Hazardous waste) ของโรงงานต้นทาง ไปยังปลายทาง โรงงาน 106 ที่ได้รับอนุญาตหลอมหล่ออะลูมิเนียมที่จังหวัดสมุทรสาคร (ผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) จำนวน 13,xxx ตัน ซึ่งในกรณีที่ของเสียยังไม่ได้รับการบำบัดกำจัดแล้วเสร็จ ผู้ก่อกำเนิดของเสีย (Waste Generator–WG) จึงยังมีภาระความรับผิดตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมปี 2566
  • ตามรายงานอีไอเอของโรงงานถลุงสังกะสี จังหวัดตาก ได้ระบุว่าเป็นกากอุตสาหกรรมอันตรายให้ฝังกลบแบบถาวร

2)  ผู้รับบำบัดจำกัด (โรงงานประเภท 106) และรับหลอมหล่ออะลูมิเนียม (โรงงานประเภท 60) จังหวัดสมุทรสาคร 

     2.1 กากของเสียฯ ต้องมีการจัดการตามที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม และต้องทำ Mass Balance เพื่อป้องกันการสูญหายจากกระบวนการรีไซเคิล ซึ่งกรณีนี้แสดงให้เห็นว่า การจัดทำ Mass Balance ควรจะต้องมีระบบรายงานที่ทันเหตุการณ์มากกว่าระบบ offline ดังเช่นในปัจจุบัน
     2.2 ในทางกฎหมาย ร้านค้าของเก่าไม่สามารถรับของเสียอันตรายจาก โรงงาน 106 ได้ ในกรณีนี้เกิดจากการขาดความรู้เกี่ยวกับของเสียอันตรายที่ถูกต้อง และการกำกับดูแลร้านค้าของเก่าที่ไม่ทั่วถึง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารและให้ความรู้ที่ถูกต้องมากขึ้น รวมถึงการกำกับดูแลที่ชัดเจนมากขึ้น
     2.3 นักลงทุนต่างประเทศ นำกากของเสียฯ นี้ไปหลอมหรือส่งออกไปในช่องทางที่ไม่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นโรงงาน กรณีนี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาหลายเรื่องนอกจากเรื่อง กากแคดเมียม ในปัจจุบัน รวมทั้งเป็นปลายทางให้กับร้านค้าของเก่าในข้อ 2.2
     2.4 ในมุมของ “การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance: CG)” ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชนและภาครัฐทุกระดับตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ต้องตระหนักและยึดหลัก Corporate Governance: CG ในการปฎิบัติงานที่มีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เป็นธรรม เพื่อสามารถติดตามเส้นทางและป้องกันการสูญหายระหว่างทาง และสามารถควบคุมผลกระทบที่อาจจะมีต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพได้มีประสิทธิภาพขึ้น

3)  มาตรการของ ส.อ.ท. เพื่อป้องกันปัญหาระยะยาว

จากบทเรียนนี้ประเด็นสำคัญ คือ โรงงานผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรม (Waste Generator–WG)  มีภาระความรับผิดในระยะยาวตามกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องเลือกผู้รับบำบัดกำจัด    กากอุตสาหกรรม (Waste Processor–WP) ที่น่าเชื่อถือและมีระบบการจัดการที่ได้มาตรฐาน 

     3.1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ออกมาตรฐานและมอบตราสัญลักษณ์ Eco Factory for Waste Processor ซึ่งจะช่วยให้ผู้ก่อกำเนิดกากอุตสาหกรรมสามารถแยกแยะผู้ประกอบการโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียที่มีคุณภาพกับไม่มีคุณภาพออกจากกันได้ชัดเจนขึ้น 

  • ปัจจุบันมีโรงงานรับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลของเสียได้รับการรับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor แล้วทั้งสิ้น 16 แห่ง และอยู่ระหว่างการเตรียมขอการรับรองอีก 16 แห่ง
  • ภายในปี 2568 โรงงาน 101,105 และ 106 ที่เป็นสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (จำนวน 76 แห่ง) และโรงงาน 101,105 และ 106 ในนิคมอุตสาหกรรมจะเข้าสู่ระบบนี้ทั้งหมด ซึ่งเกินกว่า 80% ของผู้ให้บริการบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมในตลาดปัจจุบัน จะทำใหัโรงงานผู้ก่อกำเนิดของเสียสามารถคัดเลือกโรงงานปลายทางที่เป็นผู้รับบำบัดกำจัดและรีไซเคิลกากอุตสาหกรรมที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยลดปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้มาก 
  • นอกจากนี้ ส.อ.ท. และ กนอ. ได้เชิญชวนบริษัทชั้นนำในประเทศไทย 4 องค์กร (SCGC, IRPC, PTTGC, TCMA) และสมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรมภายใต้ ส.อ.ท. 11 กลุ่มอุตสาหกรรม ร่วมประกาศเจตนารมณ์การสนับสนุนเลือกใช้บริการ Waste Processer ที่ได้รับรองมาตรฐาน Eco Factory for Waste Processor เพื่อให้สอดคล้องนโยบายการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน (Sustainable Supply Chain)

     3.2 สนับสนุนการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ให้เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเพื่อรวมศูนย์การพัฒนา สื่อสาร ส่งเสริมและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ

  • เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภท 101, 105 และ 106 มีความอ่อนไหวต่อผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชน จึงจำเป็นต้องมีศูนย์กลางการพัฒนา สื่อสารการส่งเสริมและการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางในเรื่องนี้ 
  • ช่วยลดภาระการกำกับดูแลของภาครัฐลงได้อีกมาก ถ้าได้รับการส่งเสริมให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์การการจัดการในเรื่องสิ่งแวดล้อมคู่ขนานไปกับกฎหมายและมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ

     3.3 ผลักดันการนำแนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ให้เกิดการหมุนเวียนใช้ประโยชน์จากวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว ผลิตภัณฑ์พลอยได้ที่มีศักยภาพมาพัฒนาเป็นวัสดุหมุนเวียน (Circular Materials) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามคุณสมบัติของการสิ้นสุดความเป็นของเสีย (End of Waste)  คือ (1) เป็นวัสดุที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานเฉพาะ (2) มีตลาดหรือความต้องการใช้ (3) เป็นไปตามกฎหมายหรือมาตรฐานที่มีคุณสมบัติทางเทคนิคตามข้อกำหนด และ (4) ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ อนามัยหรือสิ่งแวดล้อม โดยการต่อยอดงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ได้จริง เพื่อลดการนำกากของเสียไปฝังกลบ

#กากแคดเมียม #FTI #สภาอุตสาหกรรม #WasteProcessor #กากอุตสาหกรรม #Mreport #ข่าวอุตสาหกรรม

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH