กระทรวงอุตสาหกรรมเปิดตัว “แจ้งอุต” ผ่านไลน์ ใช้ Traffy Fondue ยกระดับการจัดการร้องเรียน
กระทรวงอุตสาหกรรม คิกออฟ “แจ้งอุต” แพลตฟอร์มแจ้งเรื่องร้องเรียนปัญหาอุตสาหกรรมผ่านทางไลน์ โดยเทคโนโลยี “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” ซึ่งผู้ร้องสามารถติดตามสถานการณ์แก้ปัญหาจนแล้วเสร็จ ทราบผลรวดเร็วทันใจ สร้างการมีส่วนร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมไทย
Advertisement | |
30 มกราคม 2568 - นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม มีความเอาจริงเอาจังกับการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมทั้งการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการให้การประกอบกิจการเป็นเรื่องง่าย (Ease of Doing Business) และเพิ่มความคล่องตัวสำหรับประชาชนทั่วไปในการติดต่อกับกระทรวงอุตสาหกรรม จึงได้มอบหมายให้ “คณะกรรมการเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อการปฏิรูปอุตสาหกรรม”
นำโดย นายพงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม หาแนวทางขับเคลื่อนร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหา "ทราฟฟี่ฟองดูว์" (Traffy Fondue) จัดทำช่องทางร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ในชื่อ “แจ้งอุต” ที่จะเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มช่องทางแจ้งเรื่องและตามติดสถานะของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการประกอบกิจการอุตสาหกรรมแบบทันใจยกระดับการมีส่วนร่วมภาคประชาชนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส และเพิ่มประสิทธิภาพให้ภาครัฐโดยการใช้เทคโนโลยีที่อำนวยให้ข้าราชการทำงานง่ายขึ้น อย่างเทคโนโลยีประมวลผลอัจฉริยะ (AI) ที่ช่วยเจ้าหน้าที่ประเมินสถานการณ์ แนะนำแนวทางการแก้ปัญหาอัตโนมัติ เพื่อลดระยะเวลาทำงาน
“ช่วงที่ผ่านมา เราเข้มงวดบังคับใช้กฎหมายกับการจัดระเบียบอุตสาหกรรมไทย กับโรงงานที่ไม่ปฏิบัติตามกฎกติกา ก่อให้เกิดฝุ่น PM2.5 สินค้าไม่ได้มาตรฐานมากมายยังแทรกซึมในตลาด ลำพังกำลังพลของข้าราชการอุตสาหกรรม เราทำได้ไม่เพียงพอเป็นแน่ ผมจึงอยากให้ “แจ้งอุต” ซึ่งเป็นเหมือนเครื่องมือที่ช่วยรับฟังเสียงจากประชาชนที่เดือดร้อน เพื่อแก้ปัญหา ในขณะเดียวกันยังเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับประชาชน ในการต่อสู้เพื่อพังวงจรอุตสาหกรรมสีเทา โรงงานเถื่อน เอาผิดผู้ประกอบการไร้ความรับผิดชอบ ลักลอบฝังขยะอันตราย ปิดตายสินค้าข้ามชาติราคาถูกที่ไร้มาตรฐาน ช่วยกันพลิกฟื้นอุตสาหกรรมไทยให้สะอาด โปร่งใส ไม่ให้มีอะไรซุกใต้พรมอีกต่อไป แจ้งอุตมา เราสุดซอยให้แน่ครับ” นายเอกนัฏกล่าว
นายณัฐพล รังสิตพล ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า การทำงานของแพลตฟอร์ม “แจ้งอุต” นั้น สามารถเข้าใช้งานโดยผ่านระบบของทราฟฟี่ฟองดูว์ (Traffy Fondue) และเลือกไปยัง แจ้งอุต รวมทั้งการสแกนผ่าน QR Code และ Link ซึ่งสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนในเรื่องต่าง ๆ แบ่งออกเป็น 6 ด้าน คือ
- โรงงาน (ปัญหาเกี่ยวกับการประกอบกิจการโรงงานกลิ่นเหม็น/เสียงดัง/ฝุ่นละออง/ถนนและระบบสาธารณูปโภคภายในนิคมอุตสาหกรรม)
- อ้อย (ปัญหาเผาอ้อย/รถบรรทุกอ้อยน้ำหนักเกิน)
- เหมือง (ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ)
- มาตรฐานสินค้า
- บริการอุตสาหกรรม (ร้องเรียนการให้บริการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม) และด้านอื่นๆ นอกจากนี้ยังสามารถร้องเรียนการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย
ในระยะแรก กระทรวงอุตสาหกรรมจะรับแจ้งจัดการเรื่องการร้องเรียนของทุกหน่วยงานในสังกัด จำนวน 8 แห่ง ส่วนระยะต่อไปจะพัฒนาการติดตามสถานะการขอรับบริการ เช่น การขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน การขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสถานะการสมัครเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สถานะการขอสินเชื่อของผู้ประกอบการ เป็นต้น
ทั้งนี้ ระบบใน Traffy Fondue ได้พัฒนาการแสดงผลภาพรวม (dashboard) และฐานข้อมูลการใช้บริการ เช่น สถิติการร้องเรียน พื้นที่ที่ถูกร้องเรียน ประวัติการส่งเรื่องร้องเรียน และจำนวนที่ได้รับการแก้ไข เพื่อให้ผู้รับผิดชอบสามารถนำไปวางแผนการจัดการปัญหาในพื้นที่นั้น ๆ และในอนาคต กระทรวงอุตสาหกรรมมีแผนที่จะเชื่อมโยงแจ้งอุตกับระบบต่างๆที่มีอยู่ของกรม เช่น I-Dee Pro และระบบอื่น ๆ ต่อไป เพื่อให้ข้อมูลและการจัดการต่างๆ เชื่อมโยงถึงกัน
โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการจัดฝึกอบรมการใช้งาน “แจ้งอุต” เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกว่า 500 คน ทั้งที่ห้องประชุมและทางออนไลน์ เพื่อนำแนวทางและเทคนิคของการจัดการเรื่องร้องเรียนมาฝึกปฏิบัติให้สามารถนำระบบ “แจ้งอุต” ไปปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและพร้อมให้บริการประชาชน ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมมีเรื่องร้องเรียนเฉลี่ยปีละ 500-550 เรื่อง โดยเรื่องร้องเรียนมากที่สุด 11 อันดับ ได้แก่
- กลิ่นเหม็นและไอสารเคมี (ร้อยละ 29)
- ฝุ่นละอองและเขม่าควัน (ร้อยละ 21)
- เสียงดังและแรงสั่นสะเทือน (ร้อยละ 15)
- น้ำเสีย (ร้อยละ 8)
- อื่นๆ (ร้อยละ 6)
- ประกอบการในเวลากลางคืน (ร้อยละ 6)
- กากอุตสาหกรรมและวัตถุอันตราย (ร้อยละ 5)
- ประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาต (ร้อยละ 5)
- ความปลอดภัยในการทำงานและสุขภาพ (ร้อยละ 3)
- คัดค้านการประกอบการ (ร้อยละ 2)
- เหมืองแร่ (ร้อยละ 0.3) นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนจากเหตุภาวะฉุกเฉิน เฉลี่ยจำนวน 15 เรื่องต่อเดือน อาทิ เหตุเพลิงไหม้ สารเคมีรั่วไหล การชุมนุมคัดค้าน อุบัติเหตุจากการทำงานหรือเครื่องจักรกล เหตุระเบิด เป็นต้น
การพัฒนาแพลตฟอร์ม "แจ้งอุต" เป็นการยกระดับการให้บริการของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรม มาใช้ในการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อร้องเรียน นำร่องรับแจ้งเรื่อง 6 ประเภทเรื่องสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านคิวอาร์โค้ด หรือไลน์ไอดี “Traffy fondue” โดยเริ่มอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมสนับสนุนแพลตฟอร์ม "แจ้งอุต" ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มร้องเรียนออนไลน์ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่พัฒนาต่อยอดจากแพลตฟอร์ม Traffy Fondue เพื่อเป็นช่องทางให้ประชาชน ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้เสียในภาคอุตสาหกรรม สามารถแจ้งปัญหา ข้อร้องเรียน หรือข้อเสนอแนะได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และโปร่งใส สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มีภารกิจสำคัญในการขับเคลื่อนและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน โดย Traffy Fondue เป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการปัญหาเมือง ที่พัฒนาโดย ทีมวิจัยของ สวทช. หน่วยงานในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งตอบโจทย์ มิติลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ตามกลยุทธ์ การพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน (S&T Implementation for Sustainable Thailand) ของ สวทช.
"แพลตฟอร์ม Traffy Fondue เป็นเครื่องมือในการรับเรื่องร้องเรียน ที่ไม่เพียงเชื่อมต่อทุกปัญหา แต่ยังเชื่อมโยงประชาชนเข้ากับหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อยกระดับสังคมเมืองให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ปัจจุบันมีจังหวัดที่ใช้งานทุกหน่วยราชการของจังหวัดมากถึง 24 จังหวัด ผ่านการรับเรื่องแจ้งทั่วประเทศมากกว่า 1.2 ล้านเรื่อง ครอบคลุมประชากรมากกว่า 30 ล้านคน คิดเป็น 45% ของประชากรทั่วประเทศ ขยายผลการใช้งานแล้วมากกว่า 15,000 หน่วยงาน"
ทั้งนี้การพัฒนาแพลตฟอร์ม "แจ้งอุต" เป็นก้าวสำคัญในการยกระดับการให้บริการของภาครัฐ โดยการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาใช้ในการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการข้อร้องเรียน นำร่องรับแจ้งเรื่อง 6 ประเภทเรื่องสำคัญของกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งประชาชนสามารถแจ้งเรื่องผ่านคิวอาร์โค้ด และเลือกเมนู “แจ้งอุต” เพื่อแจ้งปัญหาอุตสาหกรรม พิมพ์รายละเอียดเรื่องแจ้ง แนบรูปภาพ และระบุพิกัดของปัญหา เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจะได้รับข้อมูลภาพรวมการแจ้งปัญหาอุตสาหกรรมพร้อมบริหารจัดการรับแผนสรุปเรื่องแจ้งเข้าระบบสำเร็จ
ซึ่งตอกย้ำการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ที่ สวทช. มีนักวิจัยนักพัฒนาคิดค้นและพัฒนาเครื่องมือ มาช่วยตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนได้ตรงกับความต้องการของสังคม ที่ไม่เพียงแต่ช่วยให้การแจ้งเรื่องร้องเรียนสะดวกขึ้น แต่ยังช่วยให้กระบวนการตรวจสอบและตอบสนอง มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดระยะเวลา ลดความซับซ้อน และเพิ่มความไว้วางใจของประชาชนต่อหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศในยุคดิจิทัล และช่วยยกระดับการแก้ปัญหาของภาครัฐสู่ยุคดิจิทัลอย่างแท้จริง