โชว์ผลงาน “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 67 คิดค้นนวัตกรรม IoT จากโจทย์จริง"

โชว์ผลงาน “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 67 คิดค้นนวัตกรรม IoT จากโจทย์จริง"

อัปเดตล่าสุด 15 พ.ย. 2567
  • Share :
  • 2,829 Reads   

โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ประจำปี 2567 (Young Smart IoT Technician) โดยความร่วมมือจากมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) แถลงความสำเร็จของโครงการฯ ในการมุ่งพัฒนาทักษะด้าน IoT ให้แก่นักศึกษาอาชีวะ ฝึกทักษะทางด้าน soft skill ในโรงงานจริง เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนมีความพร้อมเป็นนวัตกรในอนาคต

(วันที่ 14 พฤศจิกายน 2567) ณ โถงนิทรรศการ ชั้น 2 อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่ชาติ (เนคเทค สวทช.) จัดพิธีปิดพร้อมรับมอบโล่ เกียรติบัตร และนำเสนอผลการพัฒนาผลงาน โครงการ "ต่อกล้าอาชีวะ" ปี 2567 : พัฒนา Young Smart IoT Technician โดย ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ให้เกียรติเป็นประธานพิธีปิดโครงการฯ พร้อมด้วย ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี  ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ในฐานะผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เข้าร่วมในพิธีฯ

ดร.สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โครงการนี้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนากำลังคนสายอาชีพที่มีคุณภาพและความสามารถสูง สอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวง ศึกษาธิการในการสนับสนุนและยกระดับการอาชีวศึกษาเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อยกระดับการเรียนรู้และพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับการศึกษาสมัยใหม่และมาตรฐานวิชาชีพระดับสากล

กระทรวงศึกษาธิการจึงมุ่งปรับปรุงหลักสูตร ปวส. ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดและผู้ประกอบการ รวมถึงการจัดทำหลักสูตรระยะสั้นที่ตอบโจทย์ยุคดิจิทัล พร้อมทั้งพัฒนาศักยภาพครูและบุคลากรให้มีสมรรถนะสูงขึ้น ขอชื่นชมอาจารย์ที่ปรึกษาและนักศึกษา 19 ทีมจาก 12 วิทยาลัยที่เข้าร่วมโครงการ ซึ่งถือเป็นประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนที่ทรงคุณค่า ช่วยเสริมทักษะด้านดิจิทัลและทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อันเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาต่อและการทำงานในภาคอุตสาหกรรม ฝากถึงผู้บริหารสถาบันอาชีวศึกษา ให้ส่งเสริมและสนับสนุนการถ่ายทอดความรู้และการใช้ชุดอุปกรณ์จากโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนการสอน

ดร.นิรุตต์ บุตรแสนลี ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา ในฐานะผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า โครงการ "ต่อกล้าอาชีวะ" มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างกำลังคนในสายอาชีวศึกษาให้มีทักษะสูง สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทันสมัย ผ่านการฝึกปฏิบัติจริงและพัฒนาทักษะการแก้ปัญหาจากสถานการณ์จริงในสถานประกอบการ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาอาชีวศึกษา พ.ศ. 2560 – 2579 ที่มุ่งเน้นให้การอาชีวศึกษามีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรระดับฝีมือ (ปวช.) ระดับเทคนิค (ปวส.) และระดับเทคโนโลยี (ปริญญาตรีสายเทคโนโลยีหรือปฏิบัติการ) รวมถึงการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะให้ตรงกับความต้องการของประเทศ ยกระดับมาตรฐานกำลังคน และตอบโจทย์ภาคธุรกิจและผู้ประกอบอาชีพอิสระในระดับสากล นอกจากนี้ยังขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทุกช่วงวัย

สอศ. ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่สนับสนุนและนำเทคโนโลยีนวัตกรรมพร้อมใช้มาใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาสมรรถนะของเยาวชนอาชีวศึกษาให้ตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมของประเทศ เราหวังว่าโครงการ "ต่อกล้าอาชีวะ" จะได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และสามารถขยายผลไปสู่สถาบันอาชีวศึกษาทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาความร่วมมือในการนำเทคโนโลยี IoT และนวัตกรรมพร้อมใช้มาเป็นเครื่องมือในการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ

คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า มูลนิธิสยามกัมมาจลฯ ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เหมาะสมตามช่วงวัย เพื่อให้มีความรู้ มีความสามารถ มีคุณลักษณะที่ดี มีความคิดสร้างสรรค์ เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง และใช้ศักยภาพของตนเองให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม (Active Citizen) มูลนิธิฯ มุ่งเน้นการสนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนากำลังคน ร่วมกับหน่วยงานหลักที่มีพันธกิจหลักในการดำเนินงาน ทั้ง เนคเทค สวทช. และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทย โดยให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องจึงได้ร่วมมือกับ เนคเทค สวทช. ยาวนานกว่า 12 ปี เพื่อร่วมกันจัดทำ “โครงการต่อกล้าอาชีวะ” เพื่อการพัฒนาทักษะเยาวชนอาชีวศึกษา เตรียมความพร้อมเยาวชนเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ทั้งการพัฒนาทักษะในสายวิชาชีพ ทักษะทางด้านเทคโนโลยี และทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

นอกจากการพัฒนาเยาวชนแล้ว โครงการฯ ยังมีเป้าหมายในการสนับสนุนอาจารย์ทุกคน ให้สามารถนำความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ กลับไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนของตนเองได้ โดยมีทีมนักวิจัยและพี่เลี้ยงของเนคเทค เป็นผู้ให้คำปรึกษาและช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างประโยชน์และผลกระทบในวงกว้าง ในระดับห้องเรียน และนำไปสู่การปรับปรุงหลักสูตรของวิทยาลัยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในทุกวันนี้อีกด้วย

ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย  ผู้อำนวยการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) กล่าวว่า โครงการ “ต่อกล้าอาชีวะ” ปี 2567 (Young Smart IoT Technician) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 มีอาจารย์และน้อง ๆ สมัครเข้าร่วมโครงการ 36 ทีม จากสถาบันอาชีวศึกษา 25 สถาบัน ใน 18 จังหวัดทั่วประเทศ เป้าหมายคัดเลือกเพียง 19 ทีม จาก 12 สถาบัน ใน 10 จังหวัด ที่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการฯ จะได้รับทุนสนับสนุนการพัฒนาผลงาน จำนวน 30,000 บาท ชุดอุปกรณ์สื่อการสอน Rasbery Pie จำนวน 2 ชุด และชุดการสอน IoT Kits จำนวน 1 ชุด ให้กับอาจารย์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในการเรียนการสอนวิทยาลัย 

ในปี 2567 โครงการฯ เน้นการพัฒนานำร่องการสร้างกลุ่ม Young Smart Technician ด้วยเทคโนโลยี IIoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นสำหรับการยกระดับกระบวนการผลิตสู่ Industry 4.0 และสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทุกอุตสาหกรรม S-Curve โครงการฯ จัดกิจกรรม forum ร่วมกับสถานประกอบการ เครือข่ายภาคเอกชนของ สวทช. กว่า 50 องค์กร เพื่อรับทราบโจทย์ และความต้องการในการนำเทคโนโลยี IIoT เข้าไปใช้ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังวางแผนพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ ที่เหมาะสม ทั้งกับครูผู้สอนและนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา ผ่านการทำโครงงานที่มีโจทย์มาจากสถานประกอบการเครือข่ายที่เข้าร่วมโครงการ เป็นการบูรณาการความรู้จากห้องเรียนไปสู่การประยุกต์ใช้งานจริง นักศึกษาสามารถเลือก IoT Platform ที่เหมาะสมกับสถานการณ์และการแก้ไขปัญหา รวมไปถึงการพัฒนาทักษะทางด้าน soft skill ต่าง ๆ เช่น ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ทักษะการสื่อสาร และทักษะการทำงานเป็นทีม อาจารย์มีทักษะการเป็นโค้ช สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เพื่อการจัดการเรียนการสอนที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของนักศึกษาให้พร้อมไปสู่การทำงานจริง  ตลอดระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2567 นักศึกษาเข้าฝึกงานในสถานประกอบการ โดยพัฒนาผลงาน/สิ่งประดิษฐ์ เพื่อนำไป implement ใช้งานจริง ในระหว่างทางการพัฒนาผลงาน ทีมนักวิจัยพี่เลี้ยง มีการให้บริการคลินิกให้คำปรึกษา online และลงพื้นที่ เยี่ยมชม ให้คำปรึกษาติดตามผลการพัฒนาผลงาน และติดตามการฝึกงานในสถานประกอบการของนักศึกษา

“เนคเทค ต้องขอขอบคุณสถานประกอบการทั้ง 15 แห่ง เช่น บริษัทสยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด (STM), บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด (น้ำมันพืชกุ๊ก) และ บริษัท อีสเทิร์น ไทย คอนซัลติ้ง 1992 จำกัด ที่เปิดโอกาสรับน้อง ๆ ในโครงการฯ ได้เข้าไปฝึกงาน และมีโจทย์จริงให้น้อง ๆ ได้ฝึกปฏิบัติ ถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับน้อง ๆ ให้พร้อมสู่การทำงาน” ผู้อำนวยการเนคเทค กล่าว 

สำหรับตัวอย่างผลงานนวัตกรรม IoT ที่นักศึกษาอาชีวะสามารถนำทักษะจากโจทย์ปัญหาจริงของบริษัทต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมไปออกแบบเป็นนวัตกรรม และเริ่มมีการใช้งานจริงในบริษัทแล้ว เช่น

1. นวัตกรรม การพัฒนาระบบ Data Transmission ในไลน์การผลิตเครื่องยนต์ด้วยเทคโนโลยี IoT เพื่อแก้ปัญหาข้อมูลสูญหายซึ่งเป็นข้อมูลที่นำมาใช้พัฒนาระบบตรวจเช็คประสิทธิภาพของเครื่องจักร และการแก้ปัญหาข้อมูลซ้ำ รวมถึงเพื่อพัฒนาระบบตรวจเช็คประสิทธิภาพของเครื่องจักรเดิมให้เป็นระบบ OEE ให้กับ บริษัท สยามโตโยต้าอุตสาหกรรม จำกัด จากการเก็บข้อมูลสำหรับทดสอบในโครงการพบว่าระบบใหม่สามารถลดปัญหาข้อมูลซ้ำได้ 99% และลดข้อมูลสูญหายได้สูงถึง 100%

2. นวัตกรรม Smart Water Meter ระบบอ่านค่ามิเตอร์น้ำที่นำระบบเทคโนโลยี AIoT เข้ามาช่วยในการพัฒนาระบบอ่านค่าเลขมิเตอร์น้ำ โดยมีการนำอุปกรณ์ไปติดตั้งบนหน้ามิเตอร์น้ำ ซึ่งอุปกรณ์มีคุณสมบัติในการถ่ายภาพและส่งไปยัง Server เพื่อทำการประมวลผลและบันทึกข้อมูลลงใน Database สามารถดูค่าผ่านหน้า Web Application เพื่อแก้ปัญหาให้กับ บริษัท อีสเทิร์นไทย คอนซัลติ้ง 1992 จำกัด สถานประกอบการลดการใช้ทรัพยากร ลดจำนวนแรงงาน และลดเวลาที่ใช้ในกระบวนการ พร้อมทั้งสามารถเก็บข้อมูลที่มีความแม่นยำซึ่งนำไปใช้ในการวิเคราะห์ได้

3. นวัตกรรม ระบบเฝ้าระวังภัยน้ำท่วมด้วย COOK_SPTC_IoT จากการลงพื้นที่และการรับฟังปัญหาของสถานประกอบการ บริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์นํ้ามันพืช จ้ากัด พบว่าอิทธิพลของระดับน้ำในทะเลส่งผลต่อการระบายนํ้าในโรงงาน ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วม และอาจจะทำให้เครื่องจักรเสียหายเป็นจำนวนมาก โครงการจึงได้เกิดแนวคิดในการสร้างระบบเฝ้าระวังภัยนํ้าท่วมด้วย COOK_SPTC_IoT) มาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับบริษัท เพื่อเป็นทางเลือกในการดูแลและป้องกันภัยน้ำท่วม ที่สามารถดูค่าระดับนํ้าที่จุดต่างๆ ที่ห่างกันที่จอมอนิเตอร์ และสามารถสั่งการแบบ IoT ได้เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้ควบคุม 

4. นวัตกรรม ระบบตรวจวัดและแสดงผลข้อมูลสภาพแวดล้อมภายในอาคาร พัฒนาร่วมกับ บริษัท ออโต้เทค โกลบอล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัท System Integrator (SI) พัฒนาระบบตรวจสอบและควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้อยู่อาศัย โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีการใช้งานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง ระบบนี้ใช้เทคโนโลยี IoT ในการวัดค่าต่างโดยเชื่อมต่อกับเซิร์ฟเวอร์และแสดงผลผ่านแดชบอร์ดออนไลน์และ LINE Notify เพื่อติดตามข้อมูลแบบเรียลไทม์ ปัจจุบันได้นำไปใช้งานและขยายผลเพิ่มเติม ติดตั้งระบบให้กับโรงพยาลบาลในจังหวัดนครสวรรค์ และโรงพยาบาลยินดีรับนักศึกษาของวิทยาลัยเพื่อเข้าไปฝึกงานในปีต่อ ๆ ไปได้ด้วย 

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH