4 หน่วยงานรัฐ ร่วม เอกชน หนุนแนวทางข้อเสนอการนำกองทุน ววน. กำหนดทิศทางการลงทุนอุตฯ ยานยนต์สมัยใหม่
สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดเวทีเสวนา “การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ” ครั้งที่ 5 ในหัวข้อ การเปลี่ยนผ่านสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนจากภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการ ต่อประเด็นสำคัญที่กองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ควรมุ่งเน้นสนับสนุน และนำไปกำหนดทิศทางในการลงทุน ววน. ในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์เดิมสู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ให้สามารถอยู่รอดและแข่งขันได้ สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์
-
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2566
-
‘เกรียงไกร เธียรนุกุล’ ประธาน ส.อ.ท. สมัย 2 ลุยต่อนโยบาย '3 Go' พัฒนา SMEs ไทยเต็มสูบ
24 พฤษภาคม 2567 รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า สกสว. มีหน้าที่จัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) ของประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศ ที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานต่าง ๆในระบบ ววน. ตามแผนด้าน ววน. ของประเทศ โดยแผนงานพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งใน 15 แผนงาน Flagships ของกองทุนส่งเสริม ววน. ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญ คือทำให้ประเทศไทยสามารถยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยสามารถเพิ่มมูลค่าการขาย ชิ้นส่วนสำคัญ และเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่องได้ ตลอดจนมีจำนวนผู้ประกอบการ SMEs ที่สามารถแข่งขันและพึ่งพาตนเองได้เพิ่มขึ้น รวมถึงผู้ประกอบการยานยนต์เดิมสามารถปรับตัวให้อยู่รอด และแข่งขันได้ โดยการใช้ผลงานวิจัย และนวัตกรรม และ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่ได้ในวันนี้ จะถือเป็นข้อมูลสำคัญที่ สกสว. จะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการทบทวนและปรับปรุงแผนด้าน ววน. ตลอดจนการขับเคลื่อนแผนด้าน ววน. เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ต่อไป
ด้าน นายกฤศ จันทร์สุวรรณ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวถึง การพัฒนาและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ว่าเป็นหนึ่งในบทบาทสำคัญของ สศอ. ในการกำหนดนโยบายการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการยานยนต์ ที่เกี่ยวเนื่องกับหลาย ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่ใช่แค่เรื่องขององค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพียงอย่างเดียว แต่ยังช่วยพัฒนากำลังคนที่มีศักยภาพสูงเข้าสู่ระบบเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่น่าสนใจในช่วงเสวนา “โอกาส และความท้าทายของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ในยุคการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่” โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมเสวนา เช่น คุณตรีพล บุณยะมาน รองผู้อำนวยการ สถาบันยานยนต์ ที่ได้กล่าวถึงภาพรวมของสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปัจจุบัน โดยยังมีช่องว่างอีกมาก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซอฟต์แวร์ ระบบการสื่อสาร รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ โดยหากสามารถปิดช่องว่างเหล่านี้ได้ จะทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้ นายสุพจน์ สุขพิศาล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วน และอะไหล่ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนจาก ICE เป็น BEV 100% โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนได้รับผลกระทบกว่า 810 บริษัท แรงงานตกงานกว่า 326,000 คน และอุตสาหกรรมสนับสนุนได้รับผลกระทบกว่า 180 บริษัท และด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย ยังไม่สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า Tier 1 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นจีน ที่กำลังตั้งฐานการผลิตในไทยได้ จึงเป็นวิกฤติเร่งด่วนที่ภาครัฐควรให้การช่วยเหลือ ขณะที่ ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย นักยุทธศาสตร์ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้มีการนำเสนอนโยบายและมาตรการของกระทรวง อว. ในการสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ โดย อว. มีการพัฒนาหลักสูตรและมีมาตรการที่ส่งเสริมการผลิตกำลังคน ตลอดจนมีการพัฒนาและยกระดับผู้ประกอบการใน EV supply chain ทั้งการสร้างความร่วมมือในการฝึกอบรม การพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ระหว่างผู้ประกอบการ training center และ มหาวิทยาลัย
ด้าน ดร.วิมล แสนอุ้ม ผู้อำนวยการหน่วยธุรกิจนวัตกรรม บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด และ คุณพิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรม บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ จำกัด ได้เสนอแนวทางต่อภาครัฐในการสนับสนุนภาคเอกชน ได้แก่ 1. จัดตั้งหน่วยงานกลาง (One Stop Service) เพื่อประสานงานด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. เร่งยกระดับการพัฒนาทักษะแรงงานที่จำเป็นสำหรับป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม และส่งเสริมการลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ 3.พัฒนากฎระเบียบและมาตรฐานที่รองรับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ 4.ส่งเสริมการพัฒนายานยนต์พลังงานสะอาดทางเลือกอื่น ๆ ควบคู่กับการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการพัฒนาระบบรีไซเคิลแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
ทั้งนี้ โดยภาพรวมการเสวนาในครั้งนี้ ผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐ และเอกชน มองว่าโอกาสที่ไทยจะสามารถแข่งขันได้ในตลาดยานยนต์สมัยใหม่ สามารถทำได้ใน 2 แนวทาง ได้แก่ 1. สนับสนุนผู้เล่นรายใหม่ ทั้งขนาดกลางและใหญ่ รวมถึง Startup/SME กลุ่ม Niche market ที่ให้ความสำคัญกับการใช้วิจัยและนวัตกรรมในการขับเคลื่อนธุรกิจ ให้เกิดความยั่งยืน และสามารถแข่งขันได้ 2. สนับสนุนและยกระดับผู้ประกอบการกลุ่ม Mass ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สันดาปเดิมที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ป้อนเข้าสู่โรงงานผลิตรถยนต์ ให้สามารถเข้าสู่ Value chain ของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ได้ ทั้งในแง่การเพิ่มประสิทธิภาพ และการยกระดับกระบวนการผลิตชิ้นส่วนด้วยระบบอัตโนมัติ เป็นการลดต้นทุนการผลิตทำให้สามารถแข่งขันได้ ซึ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้ในวันนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการวางแผนการดำเนินงานในช่วงการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์สู่เทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ได้ รวมถึง สกสว. จะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการทบทวนและปรับปรุงแผนด้าน ววน. ตลอดจนการขับเคลื่อนแผนด้าน ววน. เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทย ที่สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ ต่อไป
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- ยอดขายรถยนต์ 2566
- คาร์บอนเครดิต คือ
- อบรมรถยนต์ไฟฟ้า 2567
- Apple ครองตลาดสมาร์ทโฟนพรีเมียมในปี 2023
- การเปลี่ยนแปลงของเครือข่ายไร้สาย 5G
- ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า 2566
- สถิติส่งออกกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วนไทยปี 2566
- เทคโนโลยีในงานโลจิสติกส์ มีอะไรบ้าง
- กฎหมาย ปล่องระบาย อากาศ
- solid state battery คือ
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH