ส.อ.ท. เร่งรัฐปรับโครงสร้างต้นทุนการผลิต รักษาขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม

ส.อ.ท. เร่งรัฐปรับโครงสร้างต้นทุนการผลิต รักษาขีดความสามารถการแข่งขันภาคอุตสาหกรรม

อัปเดตล่าสุด 28 มี.ค. 2567
  • Share :
  • 580 Reads   

จากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันภาคอุตสาหกรรมผู้บริหาร ส.อ.ท. จึงเสนอให้ภาครัฐเร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรมทั้งระบบภายใน 1 ปี โดยเฉพาะการดูแลปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งระบบให้เอกชนสามารถแข่งขันได้ มีการปฏิรูปกฎหมายกฎระเบียบเพื่อส่งเสริมความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ หรือ Ease of Doing Business รวมทั้งการพัฒนาระบบและมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาต ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา

28 มีนาคม 2567 นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 39 ในเดือนมีนาคม 2567 ภายใต้หัวข้อ “มุมมองต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบัน” พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ประเมินภาพรวมขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยในปัจจุจัยเฉลี่ยทั้ง 9 ด้าน อยู่ใน “ระดับปานกลาง” ซึ่งท่ามกลางความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังอยู่ในช่วงฟื้นตัว ทำให้ภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้องปรับตัวรับมือกับการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม อาทิ กฎระเบียบที่ล้าสมัยและไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ ต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ปัญหาผลิตภาพแรงงานและการขาดแคลนแรงงาน ข้อจำกัดในการเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม กฎระเบียบทางการค้าที่เป็นอุปสรรค การทุ่มตลาดสินค้า ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนสภาพเศรษฐกิจที่ยังคงได้รับแรงกดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ยังได้แนะนำให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนาองค์กรอยู่ตลอดเวลา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ ทั้งการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยในการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นเทรนด์โลก การยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานและพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาด มีการปรับกลยุทธ์ทางการตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ รวมทั้งการพัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน (Upskill, Reskill, New skill) เป็นต้น

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 250 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 46 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI CEO Poll ครั้งที่ 39 จำนวน 3 คำถาม ดังนี้

1. ขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับใด

หัวข้อประเมินขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม 9 หัวข้อได้คะแนนเฉลี่ย 3.00 รายละเอียดดังนี้

1) ความคล่องตัวในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) และการปฏิบัติตามกฎหมาย คะแนน 3.05

2) ต้นทุนการผลิตและการประกอบการ เช่น วัตถุดิบ พลังงาน ค่าแรง การเงิน โลจิสติกส์ ฯลฯ คะแนน 2.88

3) ผลิตภาพแรงงาน (Labour Productivity) และกำลังคนรองรับความต้องการของอุตสาหกรรม คะแนน 2.96

4) ความพร้อมด้านการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และส่งเสริม R&D คะแนน 2.98

5) การส่งเสริมและดึงดูดการลงทุนภายในประเทศ ทั้ง FDI, TDI และ SMEs คะแนน 3.07

6) การค้า การส่งออก และศักยภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ คะแนน 3.00

7) ความสามารถในการปรับตัวของภาคอุตสาหกรรมสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และNet Zero คะแนน 2.95

8) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับภาคอุตสาหกรรม เช่น Logistic, Digital ฯลฯ คะแนน 3.22

9) ศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เช่น GDP เงินเฟ้อ นโยบายรัฐ ฯลฯ คะแนน 2.90

2. ภาคอุตสาหกรรมมีแนวทางการปรับตัวอย่างไร เพื่อให้สามารถแข่งขันทางธุรกิจได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อ ลดต้นทุนการผลิต เพิ่มประสิทธิภาพ และให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม  82.8%

อันดับที่ 2 : ยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐาน และพัฒนาสินค้า  บริการให้ตอบโจทย์ความต้องการตลาด   72.4%

อันดับที่ 3 : พัฒนาและยกระดับฝีมือแรงงาน (Upskill, Reskill, New skill)   62.0%

อันดับที่ 4 : ปรับกลยุทธ์ทางการตลาด พัฒนาแบรนด์สินค้า ขยายตลาดต่างประเทศ  และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการดำเนินธุรกิจ  57.2%

อันดับที่ 5 :  ปรับโครงสร้างองค์กรและกระบวนการทำงานในองค์กร เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  56.0% 
               

3. ภาคอุตสาหกรรมคาดหวังให้ภาครัฐเร่งดำเนินการเรื่องใดภายใน 1 ปี เพื่อช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย (Multiple choices)

อันดับที่ 1 : ดูแลปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนการผลิตทั้งระบบ เช่น ราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ โลจิสติกส์ ฯลฯ  78.8%                 

อันดับที่ 2 : ปฏิรูปกฎหมายกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริม Ease of Doing Business และการเติบโตทางเศรษฐกิจ   67.2%           

อันดับที่ 3 : พัฒนาระบบและมาตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน  ในหน่วยงานที่มีหน้าที่อนุมัติอนุญาต  62.4%           

อันดับที่ 4 : ส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้า บริการ และกระบวนการผลิตรวมทั้งจูงใจให้เกิดการลงทุนด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมเป้าหมาย  61.2%             

อันดับที่ 5 : ส่งเสริมการยกระดับผลิตภาพแรงงาน และพัฒนากำลังคน รองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม  58.0%

#Thailand #competitiveness #อุตสาหกรรมไทย #ต้นทุนการผลิต #fticeopoll #fti 
 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH

 

https://www.mreport.co.th/news/industry-movement/537-fti-concerned-as-low-quality-cheap-products-flood-thai-market