Nichihon-Power-Mover

ภัยพิบัติกระตุ้น ญี่ปุ่นรุดวางโครงสร้างชาร์จไฟด้วยรถยนต์ไฟฟ้า

อัปเดตล่าสุด 8 ต.ค. 2561
  • Share :

ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ผู้ผลิตระบบชาร์จไฟยานยนต์ต่างทุ่มเทให้กับการพัฒนาเทคโนโลยีการนำไฟฟ้าจากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และรถปลั๊กอินไฮบริด (PHV) มาใช้ในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ภัยพิบัติในช่วงเดือนที่แล้ว ทั้งพายุไต้ฝุ่นและแผ่นดินไหว ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่เป็นอย่างมาก ได้ทำให้ผู้ผลิตต่างตื่นตัวและเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และ PHV เป็นแหล่งพลังงานยามฉุกเฉินได้โดยง่าย

หัวหน้าแผนกเทคโนโลยีจากบริษัท DAIHEN Corporation ผู้ซัพพลายอุปกรณ์ด้านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า กล่าวว่า “เราจะทำตลาดด้วยระบบการแปลงพลังงานงานจากรถยนต์ไฟฟ้า และ PHV ที่มีประสิทธิภาพเพียงพอในการกำเนิดพลังงานให้กับอาคารอำนวยความสะดวก” ซึ่งระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ ประกอบด้วยอุปกรณ์ชาร์จไฟฉุกเฉิน แบตเตอรี่สำรอง และเครื่องปรับกำลังไฟ ซึ่งในยามปกติ จะใช้เป็นแท่นชาร์จไฟยานยนต์ และสามารถแปลงไฟฟ้าจากยานยนต์กลับเข้าใช้ในอาคารสำนักงานหรือศูนย์การค้าได้

นอกจากนี้ ยังสามารถเลือกใช้วิธีการเติมน้ำมันให้กับ PHV เพื่อใช้ในการปั่นไฟให้กับอาคารได้อีกด้วย และคาดการณ์ว่า จะมีออเดอร์จากผู้ให้ความสนใจเข้ามาจำนวนมากในช่วงไตรมาสแรกปี 2019

อีกรายหนึ่งคือ Nichicon ซึ่งเมื่อครั้งพายุเข้า ได้นำ “Power Mover” ที่อยู่ระหว่างการพัฒนามาให้ภาครัฐยืมใช้ ซึ่งมีคุณสมบัติในการแปลงไฟฟ้ากระแสตรงจากยานยนต์เป็นไฟฟ้ากระแสสลับสำหรับครัวเรือนได้

ก่อนหน้านี้ Nichihon ได้เข้าสู่ตลาดระบบพลังงานเนื่องจากภัยพิบัติครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 โดยมุ่งไปที่การพัฒนาระบบแบตเตอรี่สำรอง เซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบ V2H (Vehicle to Home) รวมถึงเปิดตัว “Tribrid Energy Storage System” เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ส่วนอีกรายคือ Tsubakimoto Chain ซึ่งมี “Tsubaki eLINK” ระบบสนับสนุนด้านพลังงานด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปัจจุบันมีการใช้งานตามโรงงาน แมนชั่น และอาคารสาธารณะกว่า 100 แห่ง ทางบริษัทคาดการณ์ว่า ความต้องการระบบเช่นนี้จะมีเพิ่มขึ้นหลังจากการตื่นตัวในครั้งนี้ และมีแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเปิดตัวในช่วงไตรมาสแรกของปี 2019

ที่แล้วมา แม้นานาประเทศจะมีความตื่นตัวในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการผลักดันจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้นยังคงมีปัญหาจากความไม่เพียบพร้อม ซึ่งคาดการณ์ว่า ในประเทศที่มีภัยพิบัติบ่อยครั้งจะเกิดการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จไฟควบคู่ไปกับระบบไฟฉุกเฉินเช่นนี้อย่างแน่นอน