กนอ. นำทัพอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่ SDGs รับมือ CBAM สร้างโอกาสใหม่

กนอ. นำทัพอุตสาหกรรมไทย มุ่งสู่ SDGs รับมือ CBAM สร้างโอกาสใหม่

อัปเดตล่าสุด 3 ก.พ. 2568
  • Share :

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ประกาศความพร้อมนำทัพภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ความยั่งยืน โดยมี 4 กลยุทธ์สำคัญเพื่อรับมือมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป และมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

31 มกราคม 2568 นายสุเมธ ตั้งประเสริฐ กรรมการ กนอ. รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการ กนอ. ประกาศความพร้อมในเวทีสัมมนาวิชาการ “ภาคอุตสาหกรรมจะปรับตัวอย่างไร? เพื่อนำประเทศไทย สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน : SDGs” จัดโดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

นายสุเมธ กล่าวว่า CBAM เป็นโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบการไทยในการปรับตัวและก้าวสู่ตลาดโลก กนอ. มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อคว้าโอกาสจาก CBAM และเติบโตอย่างยั่งยืน

4 กลยุทธ์สำคัญของ กนอ.

1) ยกระดับนิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศสู่ความยั่งยืน โดยการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การรีไซเคิล และการส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน

2) ส่งเสริมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Industry) สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานชีวมวล พัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ส่งเสริมการจัดการของเสีย นำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์ และปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบอัตโนมัติ และ Digital Twin เพื่อลดการใช้ทรัพยากรและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

3) สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) เช่น ระบบสาธารณูปโภคที่ใช้พลังงานสะอาด ระบบจัดการของเสียครบวงจร และโรงงานรีไซเคิล สนับสนุนด้านการเงิน เช่น จัดตั้งกองทุนส่งเสริมการลงทุน มอบสิทธิประโยชน์ทางภาษี และพัฒนาใบรับรองสินค้าคาร์บอนต่ำ เพื่อส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสีเขียว รวมถึงสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมใช้พลังงานสะอาด 100% (RE100)

4) พัฒนาสถาบัน I-EA-T ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ (Capacity Building) ด้านความยั่งยืน โดยพัฒนาหลักสูตรจัดอบรม และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริมการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

เตรียมพร้อมรับมือ CBAM

กนอ. ได้พัฒนาระบบการรายงานและตรวจสอบการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Footprint Monitoring System) พร้อมออกแนวปฏิบัติที่สอดคล้องกับเกณฑ์ CBAM เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังดำเนินโครงการสนับสนุนความยั่งยืน เช่น โครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม (ธงขาวดาวเขียว) และ โครงการ I-EA-T Sustainable Business (ISB)

"กนอ. มุ่งมั่นเป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทย ให้สามารถปรับตัว รับมือกับความท้าทาย และคว้าโอกาสจาก CBAM เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน" นายสุเมธ กล่าวทิ้งท้าย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH