โซลาร์เซลล์,โซลาร์รูฟท็อป

“ติดโซลาร์เซลล์ลดค่าไฟ” คุ้มจริงไหม?

อัปเดตล่าสุด 8 พ.ค. 2566
  • Share :
  • 1,117 Reads   

กลายเป็นข่าวสร้างความสนใจให้สังคมในช่วงฤดูร้อน เมื่อหนุ่มแชร์ประสบการณ์ค่าไฟฟ้าลดลง หลังที่บ้านติดตั้งโซลาร์เซลล์ ทำให้ค่าไฟฟ้าจากเดือนละ 4,000 – 5,000 บาท ลดลงเหลือเพียง 71 บาท จนหลายคนเริ่มมีความคิดอยากติดตั้งบ้าง แต่การติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟนั้นจะคุ้มค่ากับต้นทุนที่ต้องเสียไปหรือไม่

รศ.ดร.รองฤทธิ์ ฉัตรถาวร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ภายในบ้านทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า ว่า ช่วยลดค่าไฟฟ้าได้แน่นอน อย่างไรก็ตาม ก่อนจะลดค่าไฟฟ้าได้นั้น ยังมีสิ่งที่ประชาชนต้องคำนึงถึง คือ ต้นทุนในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ โดยการติดตั้งโซลาร์เซลล์ 1 กิโลวัตต์ มีต้นทุน 30,000 – 50,000 บาท ขึ้นอยู่กับคุณภาพของแผงและ inverter ซึ่งตามระเบียบการไฟฟ้า ระบุว่า ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า 3 เฟส จะติดตั้งได้ไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ ส่วนบ้านที่ใช้ไฟฟ้า 1 เฟส จะติดตั้งได้ไม่เกิน 5 กิโลวัตต์

“หากติดตั้งขนาด 5 กิโลวัตต์ สำหรับผู้ใช้ไฟประเภทบ้านอยู่อาศัย แล้วใช้ไฟตอนกลางวันตลอด ในวันที่แดดออกปกติ ก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 80-120 บาท ต่อวัน หรือหากเดือนนั้นๆ เป็นเดือนที่แดดออกดีก็จะสามารถลดได้ถึง 2,400 – 3,600 บาทต่อเดือน”

รศ.ดร.รองฤทธิ์ ระบุอีกว่า หากถามเรื่องระยะเวลาความคุ้มทุนนั้น ต้องขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้า หากใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางวันมากเป็นประจำจะช่วยคืนทุนได้ไว แต่หากใช้ไฟฟ้าเฉพาะช่วงกลางคืนเป็นประจำจะคืนทุนช้า เนื่องจากการขายไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์แก่การไฟฟ้า เราจะขายได้ในอัตราอยู่ที่ 2.2 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งยังน้อยเมื่อเทียบกับอัตราค่าไฟฟ้าที่ซื้อจากการไฟฟ้า ซึ่งโดยเฉลี่ยความคุ้มทุนจะอยู่ที่ประมาณ 4-8 ปี

ทั้งนี้ สำหรับการติดตั้ง โซลาร์เซลล์บนหลังคานั้น จะมีอยู่ด้วยกัน 3 รูปแบบ คือ 

1. แบบออนกริด (On Grid) คือ การใช้โซลาร์เซลล์จ่ายไฟฟ้าควบคู่กับการรับไฟฟ้าจากการไฟฟ้า โดยทั่วไปจะไม่มีการติดตั้งแบตเตอรี่

2. แบบออฟกริด (Off Grid) คือ การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เพียงอย่างเดียว ไม่พึ่งพาการใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้า การติดตั้งรูปแบบนี้ ต้องมีการติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อเก็บไฟฟ้าไว้ใช้ในช่วงกลางคืน  สำหรับการติดตั้งรูปแบบนี้อาจไม่เหมาะสมจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยที่ 1 ต้นทุนแบตเตอรี่ราคาสูง เช่น หากโซลาร์เซลล์มีต้นทุน 200,000 บาท ค่าแบตเตอรี่อาจสูงถึง 100,000 บาท  และ ปัจจัยที่ 2 คือ การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีความผันผวนไม่แน่นอน หากไม่มีแบตเตอรี่และไม่มีการซื้อไฟจากการไฟฟ้า จะทำให้เกิดเหตุการณ์ไฟดับได้

3. แบบไฮบริด (Hybrid) คือ การใช้ไฟฟ้าจากทั้งจากโซลาร์เซลล์ และการไฟฟ้า โดยมีการติดตั้งแบตเตอรี่เพื่อเก็บกระแสไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไว้ใช้ในช่วงกลางคืน แต่หากไฟฟ้าไม่เพียงพอก็สามารถดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้ามาใช้ได้

“หากพิจารณาด้านความคุ้มค่า การติดตั้งโซลาร์เซลล์ในรูปแบบที่ 1 หรือ On Grid คุ้มทุนไวที่สุด เนื่องจากไม่ต้องมีต้นทุนเรื่องแบตเตอรี่ จึงทำให้มีระยะเวลาคุ้มทุนไวกว่าแบบอื่น”

สำรวจปัจจัยสำคัญก่อนลงทุนติดตั้ง

ทั้งนี้ รศ.ดร.รองฤทธิ์ แนะนำว่า ก่อนจะติดตั้งโซลาร์เซลล์ในบ้านควรพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ก่อน ทั้งพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หากไม่ใช่ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน แต่ใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืนเป็นประจำก็อาจไม่คุ้มค่ากับการติดตั้ง

ขณะเดียวกัน พื้นที่หลังคาบ้านก็ต้องเพียงพอต่อการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ด้วย โดย 1 กิโลวัตต์ต้องใช้พื้นที่ประมาณ 7-8 ตารางเมตร ส่วนตำแหน่งในการติดตั้งก็ต้องหันไปทางรับแดด ซึ่งจากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่า ควรติดตั้งหันไปทางทิศใต้ ทำมุม 15 องศาจากพื้นดิน จะทำให้โซลาร์เซลล์มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้สุงที่สุด และไม่ควรมีอาคารหรือต้นไม้มาบดบัง

นอกจากนี้ ภายในบ้านควรมีพื้นที่ใช้สอยที่เพียงพอสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์สนับสนุนการใช้งาน โดยเฉพาะ Inventer หรือตัวแปลงไฟฟ้าจากกระแสตรงของโซลาร์เซลล์ไปเป็นกระแสสลับให้สามารถใช้งานภายในบ้านได้ ซึ่งตำแหน่งการติดตั้งต้องอยู่ด้านล่างไม่ได้ติดบนหลังคา และต้องเป็นพื้นที่ไม่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เช่น การทำการสับเปลี่ยนระบบเชื่อมต่อของแผงโซลาร์เซลล์แบบอัตโนมัติเมื่อเกิดการบดบังบนแผง รวมถึงการพยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ เนื่องจากการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มีความไม่แน่นอน แปรผันตามสภาพอากาศ ดังนั้น การพยากรณ์ค่ากำลังการผลิตของโซลาร์เซลล์ที่ดีจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าทั้งได้

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH