นิสสัน เปิดตัว "ยานสำรวจดวงจันทร์ต้นแบบ" พัฒนาร่วมกับ JAXA
นิสสัน มอเตอร์ เปิดตัวยานสำรวจดวงจันทร์ต้นแบบที่พัฒนาร่วมกับ องค์การสำรวจอวกาศแห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency - JAXA) ในงานนิสสัน ฟิวเจอร์ส
Advertisement | |
ศูนย์นวัตกรรมการสำรวจอวกาศของ JAXA ดำเนินการวิจัยเกี่ยวกับยานสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีหลักสำหรับการสำรวจอวกาศ โดยนิสสันทำงานร่วมกับ JAXA ในการควบคุมการขับขี่ของยานสำรวจมาตั้งแต่เดือนมกราคมปี 2563
ยานสำรวจดวงจันทร์จะต้องสามารถสำรวจภูมิประเทศที่มีลักษณะพื้นผิวเป็นฝุ่นแป้ง หินและเป็นลูกคลื่นของดวงจันทร์ได้ และต้องใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องด้วยแหล่งพลังงานสำหรับยานพาหนะที่ใช้งานในอวกาศยังมีอยู่อย่างจำกัด
นิสสันมีส่วนร่วมโดยการใช้เทคโนโลยีการควบคุมมอเตอร์ที่พัฒนาขึ้นผ่านการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อย่าง นิสสัน ลีฟ รวมถึงเทคโนโลยีควบคุมล้อ e-4ORCE ที่อยู่ในรถยนต์ไฟฟ้าครอสโอเวอร์ นิสสัน อริยะ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของยานสำรวจดวงจันทร์บนสภาพภูมิประเทศที่สมบุกสมบัน
สมรรถนะการขับขี่ขั้นสูงสุดด้วยเทคโนโลยีการควบคุมล้อทั้งสี่ในรถยนต์ไฟฟ้า
นิสสันให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมรรถนะการขับขี่ที่เสถียรและมั่นคง ซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถขับขี่รถยนต์ได้อย่างมั่นใจ เทคโนโลยี e-4ORCE จากนิสสันสามารถควบคุมล้อทั้งสี่อย่างอิสระได้อย่างแม่นยำ ให้ผู้ขับขี่มั่นใจเมื่อต้องขับขี่ในสภาพถนนที่หลากหลาย
ในการวิจัยร่วมกับ JAXA นิสสันพัฒนาเทคโนโลยี e-4ORCE เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขับขี่ในภูมิประเทศที่สมบุกสมบันและเต็มไปด้วยทราย โดยทั่วไปแล้วเมื่อรถวิ่งบนทราย ล้อจะหมุนฟรีและจมเข้าไปในพื้นทราย ถือเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเคลื่อนตัวไปข้างหน้า ซึ่งโดยทั่วไปต้องใช้ทักษะในการขับขี่ขั้นสูงเพื่อหลีกเลี่ยงการจมทราย นิสสันจึงพัฒนาระบบควบคุมแรงขับที่ลดจำนวนการหมุนของล้อให้น้อยที่สุดตามสภาพพื้นผิว
ภายใต้ความร่วมมือนี้ นิสสันวางเป้าหมายของการมีส่วนร่วมในวิวัฒนาการเทคโนโลยียานยนต์และเทคโนโลยีการสำรวจอวกาศ โดยจะแบ่งปันความรู้ที่ได้รับจากการพัฒนารถทดสอบผสานเข้ากับความรู้จาก JAXA ในการวิจัยยานสำรวจนี้
อิคโค ฟูนากิ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการสำรวจอวกาศของ JAXA (Ikkoh Funaki, JAXA Director of the Space Exploration Innovation Hub Center) กล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่า "JAXA มีเป้าหมายจะนำผลการวิจัยไปใช้กับการสำรวจอวกาศในอนาคต เรากำลังร่วมมือกับบริษัท มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยในโครงการที่เหมาะสมและมีศักยภาพที่จะต่อยอดไปในเชิงพาณิชย์และนวัตกรรม เราหวังว่า ความร่วมมือกับนิสสันซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า จะช่วยให้เราสามารถนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนายานสำรวจดวงจันทร์ที่มีสมรรถนะสูงยิ่งขึ้น”
โทชิยูกิ นากาจิม่า ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายวิศวกรรมยานยนต์ขั้นสูง (Toshiyuki Nakajima, general manager of the Advanced Vehicle Engineering Department) ซึ่งดูแลการพัฒนาการควบคุมของระบบ e-4ORCE กล่าวว่า “การใช้ยานยนต์และสภาวะการขับขี่นั้นมีความหลากหลาย เป้าหมายของเราคือสมรรถนะการขับขี่ที่ดีที่สุดผ่านการวิจัยและพัฒนา อีกทั้งเชื่อมั่นว่าความรู้ที่ได้จากความร่วมมือกับ JAXA ในครั้งนี้จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมในรถยนต์นิสสันซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของเรา”
e-4ORCE เทคโนโลยีที่มอบการเดินทางที่น่าตื่นเต้นและสะดวกสบาย
นิสสัน อริยะ รุ่นที่มีระบบ e-4ORCE มาพร้อมกับมอเตอร์ไฟฟ้าทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งสามารถควบคุมแรงบิดของมอเตอร์แต่ละตัวแยกกันได้เพื่อให้เกิดการยึดเกาะที่ดีเมื่อเร่งและชะลอความเร็ว การฟื้นฟูพลังงานจะถูกปรับแยกกันสำหรับมอเตอร์ด้านหน้าและด้านหลัง และเมื่อเบรก e-4ORCE จะช่วยลดการกระชากและอาการสั่นของรถด้วย
ในขณะที่เข้าโค้ง แรงบิดที่มีอยู่ของมอเตอร์ด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงประสิทธิภาพของการเบรกจากทั้งสี่ล้อจะช่วยให้การควบคุมรถเป็นไปอย่างสะดวกและราบรื่น การควบคุมเหล่านี้ช่วยให้ผู้ขับขี่ในทุกระดับทักษะสามารถขับรถได้ในสภาพถนนที่หลากหลายได้อย่างมั่นใจ ซึ่งรวมถึงการขับขี่ในขณะที่มีฝนตกหนักหรือหิมะตก
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- 10 ตัวอย่างที่นำ 5G มาใช้งานได้อย่างน่าสนใจและประสบผลสำเร็จ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- เทรนด์การทำงานในอนาคต หลังไทยติดโควิด นานเกือบสองปี!
- FTA ไทย มีกี่ประเทศ พอหรือไม่ ทำไมต้องคิดเรื่อง CPTPP
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH