FUTURE INDUSTRY อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย : สุพันธุ์ มงคลสุธี

ส่องแนวคิด FUTURE INDUSTRY อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย : สุพันธุ์ มงคลสุธี

อัปเดตล่าสุด 28 มี.ค. 2565
  • Share :

'สุพันธุ์' ชูแนวคิดขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตให้เข้มแข็ง ในงานประชุมสามัญประจำปี 2565 ก่อนส่งไม้ต่อ ประธาน ส.อ.ท. คนใหม่

วันที่ 28 มีนาคม 2565 นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. 3 สมัย ชูแนวคิดขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมไทยในอนาคตให้เข้มแข็ง ผ่านการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “FUTURE INDUSTRY อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย” ในงานประชุมสามัญประจำปี 2565 และเลือกตั้งคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยได้รับความสนใจจากคณะกรรมการและสมาชิกฯ เข้าร่วมรับฟังกันอย่างคับคั่ง ณ TRUE ICON HALL 1-2 ไอคอนสยาม (ชั้น 7) ซึ่งจัดขึ้นภายใต้มาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทิศทางของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตาม ภายใต้อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ไทยมีความได้เปรียบเป็นทุนเดิม เราจึงควรมุ่งเน้นผลักดัน ส่งเสริมในสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ อาทิ

Agriculture การผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านผลผลิตการเกษตรและอาหาร ควรเริ่มจากการช่วยให้ต้นทุนของเกษตรกรต่ำลงก่อน หากต้นทุนต่ำลงจะทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น วัตถุดิบที่จะเข้าสู่อุตสาหกรรมที่มีราคาต่ำ จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมก็จะมีต้นทุนที่ต่ำลงไปด้วย ทั้งนี้ ไทยก็ควรจะปรับตัวเองให้เข้าสู่ Future Food เพื่อเปลี่ยนการเกษตรแบบดั่งเดิม เป็นการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ผลิตได้อย่างแม่นยำ โดยใช้ทรัพยากรที่ประหยัด สร้างรายได้มากขึ้นด้วย 

BCG ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย เน้นเศรษฐกิจที่นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาต่อยอดจุดแข็งของธุรกิจไทย นั่นก็คือ การนำคุณค่าจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรมมาแปลงหรือเพิ่มเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็นการนำผลผลิตทางการเกษตรที่อุดมสมบูรณ์ มาปรับเปลี่ยนระบบการผลิตและการบริโภคที่นำไปสู่กระบวนการที่ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เพื่อรักษาความสมดุลและตอบโจทย์การพัฒนาอย่างยั่งยืน ความยั่งยืน ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม การผลิตที่ต้องเป็น zero waste ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ตอบสนองยุทธศาสตร์ดังกล่าว ด้วยการจัดตั้งสถาบัน carbon credit ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย สู่การใช้พลังงานหมุนเวียน 100% เป็นอีกหนึ่งกำลังที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย

Health and Lifestyle สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ผลงานของระบบสาธารณสุขไทยในการรับมือเป็นเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่าประเทศไทยยังมีจุดแข็งในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพ เครื่องมือแพทย์ รวมไปถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ ส่วนการจัดทำสินค้าประเภท Lifestyle คนไทยถือว่ามีฝีมือที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ยังขาดเรื่องการทำให้แบรนด์สินค้าติดตลาด หากสามารถสร้างแบรนด์ให้ตรงจุด ก็สามารถดันแบรนด์ไทยสู่ตลาดโลกได้

Tourism and Services ศักยภาพและความพร้อมด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทย ที่มีภูมิประเทศที่สวยงาม มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลาย มีชื่อเสียงด้านบริการ และมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการท่องเที่ยวที่เป็นมาตรฐานระดับโลกอยู่มากมาย เป็นจุดแข็งของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย และเป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ (MICE) ไทยให้มีความแข็งแกร่งในเวทีโลก จากผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้ต่างชาติที่มีรูปแบบการทำงานแบบ Workcation เข้ามาทำงานและพักผ่อนไปด้วยในประเทศไทยมากขึ้น ก่อให้เกิดการใช้จ่าย ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 

การเพิ่มประสิทธิภาพในด้าน Technology Innovation Infrastructure และการสนับสนุนจากภาครัฐ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศไทยได้

Technology ประเทศไทยต้องเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมไทยสู่โครงสร้างพื้นฐาน 5G จะเร่งให้เกิดการนำแอพพลิเคชั่นและบริการ IoT มาใช้ทั่วทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศทั้งภาคเศรษฐกิจได้

Innovation การจะก้าวไปเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอนาคตนั้นจำเป็นต้องปรับมาขับเคลื่อนประเทศบนฐานนวัตกรรม เร่งพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมผ่านการเชื่อมโยงภาคเอกชน ภาครัฐ การศึกษาและสังคมทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเพื่อสร้างระบบนวัตกรรมที่เข้มแข็งจากพื้นฐาน สภาอุตสาหกรรมฯ ได้มีการขับเคลื่อนกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม ภายใต้การดำเนินการของ มูลนิธิกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ซึ่งจะก่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของ SMEs ไทยอย่างยั่งยืน โดยการระดมทุนจากภาคเอกชนรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกสภาอุตสาหกรรมเพื่อหนุน SMEs ให้พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้เอง

Infrastructure ระบบขนส่งโครงสร้างพื้นฐานของไทย ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางราง และทางอากาศ ซึ่งต้นทุนทางโลจิสติกส์ของประเทศไทยทุกวันนี้ค่อนข้างสูง หากสามารถพัฒนาระบบขนส่งโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าวให้ครอบคลุม จะช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ได้มาก 

การสนับสนุนจากภาครัฐ นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องต่อเนื่อง ภาคเอกชนควรได้เข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น เพิ่มความอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ การใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการปราบปรามคอรัปชั่น 

อนาคตภาคอุตสาหกรรมไทย ไม่ใช่แค่การตามกระแสโลกเพียงเท่านั้น แต่ต้องเป็นผู้นำภาคอุตสาหกรรม ด้วยการผลักดันและสร้างคุณค่าจากสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยอย่างแท้จริง ภาคอุตสาหกรรมไทยได้ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงมามากมาย และคาดหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้อุตสาหกรรมไทยจะหันกลับมาส่งเสริมอุตสาหกรรมภายในประเทศที่มีศักยภาพและขับเคลื่อนให้เติบโตด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบอเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมไทยให้เดินหน้าอย่างเต็มกำลัง เพราะ Future Industry จะไม่ใช่อนาคตที่ไกลตัวอีกต่อไป

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH