โพล ส.อ.ท. กังวลตั้งรัฐบาลช้า ฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

ส.อ.ท. กังวลตั้งรัฐบาลช้า ฉุดเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง

อัปเดตล่าสุด 27 ก.ค. 2566
  • Share :
  • 444 Reads   

ส.อ.ท. เปิดผลสำรวจ FTI Poll ครอบคลุมผู้บริหาร ส.อ.ท. 258 ท่าน จาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีความกังวลต่อการจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง

วันที่ 27 กรกฎาคม 2566 นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 ในเดือนกรกฎาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “ประเด็นกังวลที่กระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในครึ่งปีหลัง 2566” ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่ มองว่า ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาลและความขัดแย้งทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นประเด็นสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลัง 2566 และส่งผลกระทบทำให้ภาคเอกชนชะลอการลงทุน กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงหากการชุมนุมประท้วงของประชาชนทวีความรุนแรงมากขึ้น จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ตอนนี้เราต้องอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้านปัจจัยภายนอกประเทศ ส.อ.ท. ยังคงกังวลกับปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศที่อยู่ในระดับสูง ตลอดจนผลกระทบจากสงครามรัสเซีย–ยูเครน ที่จะส่งผลทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะช่วงที่จะเข้าสู่ฤดูหนาวในยุโรปที่จะทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มสูงขึ้น  

นอกจากนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท. ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังเทียบกับครึ่งปีแรก 2566 ว่ายังคงทรงตัวจากต้นปีจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ยังคงกดดันเศรษฐกิจไทย ดังนั้น ผู้บริหาร  ส.อ.ท. คาดหวังว่ารัฐบาลใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศ จะให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกให้ภาคเอกชนมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบในทุกระดับ โดยเฉพาะวิธีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP growth) รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของ SMEs และหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยงจะเป็นหนี้เสีย (NPL) เพื่อทำให้เกิดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน ลดภาระผู้ประกอบการรายเล็ก และช่วยเสริมสร้างสภาพคล่องด้านการเงินในระบบเศรษฐกิจไทย

จากการสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 258 ท่าน ครอบคลุมผู้บริหารจาก 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มีสรุปผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 31 จำนวน 5 คำถาม ดังนี้

1. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อประเด็นที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกในครึ่งปีหลังเรื่องใด (Multiple choices)
 
อันดับที่ 1 : ปัญหาเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยนโยบายในหลายประเทศที่อยู่ระดับสูง ส่งผลทำให้ความต้องการสินค้าลดลง  78.3%
อันดับที่ 2 : สงครามรัสเซีย–ยูเครนที่อาจทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งท่าทีของสมาชิก NATO ที่ส่งผลทำให้ราคาพลังงานและวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น  58.5%
อันดับที่ 3 : เศรษฐกิจจีนชะลอตัวหลังเปิดประเทศ และความเสี่ยงวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ 51.2%
อันดับที่ 4 : ผลกระทบจากภาวะโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 39.1%
 
2. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังเรื่องใด (Multiple choices)
 
อันดับที่ 1 : ความล่าช้าในการจัดตั้งรัฐบาล และความขัดแย้งทางการเมือง หลังการเลือกตั้ง 81.0%
อันดับที่ 2 : ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูงทั้งจากค่าไฟฟ้า พลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าขนส่ง  76.4%
อันดับที่ 3 : กำลังซื้อของประชาชนที่ชะลอตัวจากหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง 64.3%
อันดับที่ 4 : อัตราดอกเบี้ยขาขึ้นที่ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน และปัญหา NPL ที่เพิ่มมากขึ้น 54.7%
 
3. ภาคอุตสาหกรรมมีความกังวลต่อสถานการณ์ทางการเมือง และการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่อาจล่าช้าในเรื่องใด (Multiple choices)
 
อันดับที่ 1 : การชุมนุมประท้วงของประชาชน และความเสี่ยงที่จะเกิด การใช้ความรุนแรง 69.8%
อันดับที่ 2 : ภาคเอกชนชะลอการลงทุน และกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ 66.7%
อันดับที่ 3 : ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน 65.1%
อันดับที่ 4 : ความเสี่ยงในการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ที่ล่าช้า จนส่งผลกระทบต่อโครงการต่างๆ  56.6%
 
4. สิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องรีบดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม (Multiple choices)
 
อันดับที่ 1 : สร้างกลไกให้ภาคเอกชนมีส่วนในการปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบในทุกระดับ  68.6%
อันดับที่ 2 : เร่งแก้ไขปัญหาหนี้สินของ SMEs และหนี้ครัวเรือนที่มีความเสี่ยง จะเป็นหนี้เสีย (NPL) 57.8%
อันดับที่ 3 : บูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ในการแก้ไขปัญหาแรงงานทั้งระบบ  57.8%
อันดับที่ 4 : เร่งตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) ด้านพลังงาน เพื่อพิจารณาปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศ  55.4%
 
5. ภาคอุตสาหกรรมประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลัง เทียบกับครึ่งปีแรก 2566 ไว้อย่างไร 
 
อันดับที่ 1 : ทรงตัว 52.0%
อันดับที่ 2 : แย่ลง 43.0%
อันดับที่ 3 : ดีขึ้น   5.0%

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH