แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 4/2564

แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญของไทย ไตรมาส 4/2564

อัปเดตล่าสุด 29 พ.ย. 2564
  • Share :

กองนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เผย แนวโน้มอุตสาหกรรมรายสาขาที่สำคัญ ไตรมาสที่ 4/2564

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า 

คาดการณ์ว่าจะขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ประกอบกับราคาเหล็กในตลาดโลกยังอยู่ในระดับสูงจึงเป็นโอกาสในการแข่งขันของผู้ผลิตในประเทศ

อุตสาหกรรมไฟฟ้า

คาดว่าดัชนีผลผลิตและมูลค่าการส่งออกจะยังคงมีการขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ประมาณร้อยละ 10.32 และ 3.73 ตามลำดับ เนื่องจากผู้บริโภคได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 เพิ่มมากขึ้น สถานการณ์การแพร่ระบาดจึงคลี่คลายขึ้นตามลำดับ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลให้กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้ายังมีความต้องการจากผู้บริโภคในประเทศ นอกจากนี้จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายในตลาดส่งออกหลักของไทย ส่งผลบวกต่อการขยายตัวของการส่งออกอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นที่ต้องจับตาซึ่งอาจส่งผลลบต่อการผลิตและส่งออกได้ เช่น ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

อุตสาหกรรมรถยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 จะมีการผลิตรถยนต์กว่า 390,000 คัน โดยแบ่งเป็น การผลิตเพื่อจําหน่ายในประเทศร้อยละ 50-55 และการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 45-50

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์

ประมาณการในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 จะมีการผลิตรถจักรยานยนต์กว่า 420,000 คัน โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อจําหน่ายในประเทศร้อยละ 80-85 และการผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 15-20 

อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

คาดว่าผลิตภัณฑ์กระดาษที่ใช้ผลิตกล่องบรรจุภัณฑ์ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นตามการบริโภคในประเทศ ซึ่งได้อานิสงส์ตามการใช้งานสำหรับซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ ส่วนการส่งออกจะขยายตัวต่อเนื่องในกลุ่มเยื่อกระดาษ  

อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

การผลิตและการจำหน่ายคาดว่าจะเริ่มสามารถขยายตัวได้จากปัจจัยบวกหลายประการ อาทิ หลังหมดฤดูฝนและภาวะน้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ลดลง ประชาชนที่ได้รับผลกระทบต้องทำการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหาย และโครงการก่อสร้างภาครัฐสามารถดำเนินการต่อได้

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ภาวะอุตสาหกรรมการผลิตสิ่งทอจะขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยฐานที่ต่ำในปีก่อน ประกอบกับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่องตลอดโซ่อุปทาน ในขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มการชะลอตัวลดลง จากนโยบายการเปิดประเทศซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้ดีขึ้น ประกอบกับประเทศคู่ค้าสำคัญอย่าง จีน สหรัฐอเมริกา และยุโรป ฟื้นตัว ทั้งนี้ต้องติดตามผลกระทบจากปัญหาการขาดแคลนพลังงานในจีน ส่งผลให้วัตถุดิบอย่างเส้นด้ายและเส้นใยโพลิเอสเตอร์ปรับราคาขึ้น และเริ่มขาดแคลน กระทบต่อการผลิตเสื้อผ้า ทำให้ผู้ประกอบการเลื่อนการผลิต ในขณะที่คำสั่งซื้อล่วงหน้ายังมีไม่มาก เนื่องจากความไม่มั่นใจต่อเวลาในการรับมอบสินค้า

อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน

คาดการณ์ว่า ปริมาณการผลิตเครื่องเรือนทําด้วยไม้จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณการจำหน่ายเครื่องเรือนทำด้วยไม้ในประเทศคาดว่าจะสามารถกลับมาขยายตัวจากแนวโน้มการระบาดในประเทศที่เริ่มชะลอตัว

อุตสาหกรรมยา

คาดว่าจะขยายตัวจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.31 ตามแนวโน้มการขยายตัวที่ดีของตลาดยาในประเทศ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะชะลอตัวลงร้อยละ 3.34 โดยเฉพาะในตลาดเวียดนาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ และลาว ซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้ยาจากไทยลดลงต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน

อุตสาหกรรมยาง และผลิตภัณฑ์ยาง

การผลิตยางรถยนต์ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.31 ตามแนวโน้มการขยายตัวของตลาดส่งออก ในส่วนของการผลิตถุงมือยางคาดว่าจะชะลอตัวลงร้อยละ 5.17 เนื่องจากมีประเทศคู่แข่งทางการค้าเพิ่มขึ้น และไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคาได้ สำหรับการผลิตยางแปรรูปขั้นปฐม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.00 ตามแนวโน้มความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นปฐมของตลาดทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น

อุตสาหกรรมอาหาร

คาดว่าดัชนีผลผลิตในภาพรวมและมูลค่าการส่งออกจะขยายตัวเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเศรษฐกิจและการค้าโลกมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีปัจจัยบวกจากเงินบาทอ่อนค่า การคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ รวมถึงการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การผลิตและการส่งออกยังมีความเสี่ยงจากการระบาดที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

อ่านย้อนหลัง:

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH