เทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจนในไทย

4 หน่วยงานชั้นนำไทย-สหรัฐฯ จับมือพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฮโดรเจน หนุนลดคาร์บอน

อัปเดตล่าสุด 24 ธ.ค. 2564
  • Share :
  • 1,159 Reads   

Bloom Energy, ATE, กฟผ. และ เอ็กโก กรุ๊ป ร่วมลงนาม MOU การผลิตพลังงานไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการดำเนินการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย และเปลี่ยนผ่านสู่การใช้ไฮโดรเจน เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality 

เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2564 Mr.John D. Breidenstine อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายพาณิชย์ Mr.Edwin C. Sagurton ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจ ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย และนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ร่วมในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การใช้พลังงานที่ไม่ทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) และพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แบบแข็ง (Solid Oxide Fuel Cell: SOFC) และเทคโนโลยีแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Solid Oxide Electrolyzer Cell: SOEC) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการลดคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทยและการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ไฮโดรเจน ระหว่าง Mr.Tim Schweikert กรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท Bloom Energy Corporation นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานกรรมการบริษัท เอ ที อี จำกัด นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. และนายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ณ ห้องประชุม ชั้น 19 อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ กฟผ.

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) เน้นย้ำความจำเป็นสูงสุดของประเทศไทยที่ต้องจัดการกับภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและส่งเสริมการดำเนินงานของประเทศ โดยได้ประกาศเป้าหมายของประเทศไทยว่าจะมุ่งสู่ Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 กระทรวงพลังงานจึงได้ออกแผนพลังงานชาติ เพื่อกำหนดนโยบายพลังงานให้สอดคล้องกับเป้าหมาย โดยด้านพลังงานไฟฟ้า มุ่งเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดของโรงไฟฟ้าใหม่ให้มีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 50% พร้อมสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาและปรับปรุงเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ในระบบไมโครกริด ด้านก๊าซธรรมชาติ เน้นการเปิดเสรีและการซื้อขายเพื่อสร้างเสถียรภาพให้กับระบบพลังงานของประเทศ พร้อมทั้งวางแผนสร้างสมดุลระหว่างการผลิตภายในประเทศและการนำเข้า LNG เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางตลาดซื้อขาย LNG และด้านน้ำมัน ต้องให้ความสำคัญกับการจัดการด้านการเปลี่ยนผ่าน เพื่อสร้างสมดุลระหว่างผู้ใช้เชื้อเพลิงชีวภาพและผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้า สำหรับการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานหมุนเวียน ทุกภาคส่วนจะได้รับการสนับสนุนให้ผลิตและใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า เป็นความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา โดยในส่วนของไทย ได้แก่ กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจชั้นนำด้านพลังงาน ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ตอบสนองต่อนโยบายโดยจัดหาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าใหม่ ซึ่งปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์และนำเทคโนโลยีดังกล่าวมาพัฒนาในไทย และเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานของไทยที่ กฟผ. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมถึง บริษัท เอ ที อี จำกัด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการชั้นนำด้านพลังงาน รวมถึงให้บริการติดตั้งในด้านพลังงานหมุนเวียน และมีการผลิตพลังงานในรูปแบบ Green Hydrogen และในส่วนของสหรัฐ ฯ โดยบริษัท Bloom Energy Corporation ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ด้วยเทคโนโลยี SOFC และ SOEC ซึ่งจะมาช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้สะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ทั้งนี้ ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการพัฒนาและนำไปสู่เทคโนโลยีพลังงานทางเลือกใหม่ที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าในประเทศไทย เพื่อให้เกิดการดำเนินการที่สนับสนุนไปสู่เป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ และขยายไปถึงประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้นับเป็นโอกาสอันดียิ่งของเอ็กโก กรุ๊ป ที่จะได้ร่วมแสวงหาโอกาสการลงทุนในเทคโนโลยี SOFC และ SOEC เพื่อเป็นทางออกในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในรูปแบบใหม่ในประเทศไทยและอาเซียน ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีความน่าสนใจ มีประสิทธิภาพสูง มีความน่าเชื่อถือ มีราคาที่แข่งขันได้ และคาดว่าจะสามารถนำมาใช้แทนระบบผลิตไฟฟ้าทั่วไปแบบพลังงานความร้อนร่วมในอนาคต นอกจากนี้ ความร่วมมือครั้งนี้ยังสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของเอ็กโก กรุ๊ป “Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth” เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับประชาคมโลกที่มุ่งหน้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

Mr.Tim Schweikert กรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ บริษัท Bloom Energy Corporation กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เป็นไปเพื่อแสวงหาแนวทางในการเร่งการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไทยสู่พลังงานสะอาด โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อการพาณิชย์ การใช้งาน และการสนับสนุนเทคโนโลยี SOFC และ SOEC สำหรับการบูรณาการพลังงานสะอาดและไฮโดรเจนทั่วประเทศ ด้วยความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก Bloom Energy ขอชื่นชม กฟผ. ATE และ เอ็กโก กรุ๊ป ที่มุ่งมั่นสู่พลังงานสะอาดเพื่ออนาคต และพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและเชื่อถือได้มาสู่ประเทศไทย

นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานกรรมการ บริษัท เอ ที อี จำกัด กล่าวว่า เป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ ATE ได้ร่วมลงนามใน MOU นี้ และนําเทคโนโลยี SOFC และ SOEC ของ Bloom Energy มาสู่ประเทศไทย เราหวังว่าจะนําเทคโนโลยี SOFC และ SOEC ล่าสุดมาสู่ประเทศไทย เพื่ออํานวยความสะดวกในการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในปัจจุบันโดยร่วมมือกับ กฟผ. ซึ่งเป็นผู้นําในการผลิตไฟฟ้าในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ประกาศนโยบายมุ่งสู่ EGAT Carbon Neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 โดยการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ได้แก่ การมุ่งเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำไฮบริด ซึ่งได้มีพิธีเปิดไปแล้วเป็นที่แรก ณ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี พร้อมกับมีแผนที่จะปรับปรุงระบบโครงข่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รวมทั้งการลดใช้คาร์บอนในภาคพลังงาน และยังดำเนินโครงการปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 10 ปี อีกด้วย

 

บทความยอดนิยม 10 อันดับ

 

อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th   

Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH