วว. เปิดบริการวิเคราะห์-ทดสอบ "ยานยนต์ไฟฟ้า" ตามมาตรฐานสากลครบวงจร
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์ฯ (วว.) โดยศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) หรือ TISTR เปิดให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรฐานสากล ครอบคลุมการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า ทั้ง BEV และ EV-BUS การทดสอบและรับรองมาตรฐานชิ้นส่วนยานยนต์ รวมถึงการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ และอื่น ๆ แบบครบวงจร
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในส่วนของศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) เห็นความสำคัญในกรอบการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดังกล่าว กอปรกับมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ตลอดจนให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วยมาตรฐานสากลครบวงจร ซึ่งจะช่วยเสริมแกร่งให้ผู้ประกอบการไทย ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างเป็นรูปธรรม
- วว. เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย ชวนใช้บริการ "ศูนย์ทดสอบมาตรฐานขนส่งทางราง"
- ศูนย์ทดสอบและมาตรฐานระบบขนส่งทางราง แห่งแรกในไทยได้การรับรอง ISO/IEC 17025 : 2017 ด้านระบบราง
- มาตรฐานการติดตั้ง EV Charger สำหรับรถอีวี ต้องศึกษาความปลอดภัยของระบบไฟฟ้า
วว. โดย ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (ศทร.) พร้อมให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ และให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมแก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า โดยบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีประสบการณ์ตรงในอุตสาหกรรมยานยนต์มากกว่า 10 ปี ครอบคลุมงานวิเคราะห์ ทดสอบ ดังนี้
1. งานบริการสนับสนุนการออกแบบสำหรับพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (BEV และ EV-BUS) โดยการใช้ซอฟแวร์ออกแบบ (Design) วิเคราะห์ (Analysis) และจำลองสภาวะ (Simulation) ทางวิศวกรรมยานยนต์ เช่น ในด้านความแข็งแรง ความล้า การกระแทกจากการชน ปฏิสัมพันธ์ของแข็ง-ของไหล เป็นต้น รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีการออกแบบด้วยซอฟแวร์วิเคราะห์ ให้แก่ผู้ประกอบการไทยให้สามารถออกแบบและพัฒนา ผลิตผลิตภัณฑ์ สร้างความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผลิตภัณฑ์ไทยได้ในระดับสากล
2. งานทดสอบรับรองคุณภาพตามมาตรฐานและให้คำปรึกษาทางวิศวกรรมสำหรับชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ทดสอบชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ด้านความแข็งแรงความคงทนสำหรับตัวถังและชิ้นส่วนรถยนต์, การทดสอบความคงทนและความล้าสำหรับระบบช่วงล่าง, การทดสอบเพื่อทวนสอบการออกแบบ (design validation) เพื่อประเมินความสอดคล้องกันระหว่างการออกแบบและการทดสอบขีดจำกัดด้วยภาระกรรมแบบสถิตย์ (Static loading) และแบบพลวัตร (Dynamic loading) เป็นต้น
3. งานทดสอบต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีการทดสอบขนาดจริง (4 Post full scale vehicle test) ด้วยเทคโนโลยีการจำลองภาระกรรมการขับขี่บนถนน ทำให้สามารถประเมินความแข็งแรง ความคงทน อายุการใช้งาน ระยะเวลาหรือจำนวนกิโลเมตร ในการรับประกันรถยนต์หรืออุปกรณ์ส่วนควบต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการออกแบบการผลิตและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
4. งานพัฒนาฐานข้อมูลมาตรฐานและการทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า ศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลการใช้งาน การบำรุงรักษาของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อนำมาวิเคราะห์ทางสถิติด้านวิชาการ และเป็นฐานข้อมูลสำหรับสนับสนุนผู้ประกอบการยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ศ. (วิจัย) ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า จากศักยภาพในการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ ยานยนต์ไฟฟ้า ของศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง ดังกล่าว วว. เชื่อมั่นว่าจะช่วยเสริมแกร่งสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการในระบบอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ปัจจุบันยานยนต์ไฟฟ้าได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเพิ่มขึ้นและมีอัตราส่วนการใช้งานสูงขึ้นด้วย เนื่องจากราคาค่าพลังงานต่ำกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากกว่าเครื่องยนต์สันดาป ทั้งนี้ วว. ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทางห้องปฏิบัติการ เครื่องมือทดสอบวิเคราะห์ต่าง ๆ ตลอดจนการปรับรูปแบบการดำเนินงานให้เป็นเชิงรุก และเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือกับอุตสาหกรรมมากขึ้น เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมขนส่งในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ
อ่านข่าว: บอร์ดอีวี ตั้งเป้าปี 2578 ผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 18.4 ล้านคัน
ทั้งนี้ วว. พร้อมสนับสนุนการแก้ปัญหาและการพัฒนาประเทศในมิติต่าง ๆ เช่น ด้านเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สังคม พลังงานและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ในส่วนภาคขนส่งของประเทศ อันได้แก่ ภาคยานยนต์ ระบบราง ทางหลวง การบิน ฯลฯ วว. ได้ให้การสนับสนุนงานบริการ งานวิจัย อย่างต่อเนื่อง และเล็งเห็นความสำคัญการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ที่จะเกิดขึ้นกับภาคขนส่งของประเทศในอนาคตอันใกล้
รวมทั้งตระหนักถึงสภาพปัญหาต่างๆ ที่เป็นผลสืบเนื่องด้วย เช่น ปัญหาราคาพลังงาน การจราจร การเกิดอุบัติเหตุ ฝุ่นละออง PM2.5 การแพร่ระบาดของเชื้อโรค มลพิษทางเสียง และสภาพแวดล้อม
ด้าน ดร.อาณัติ หาทรัพย์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางรางวว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการให้บริการวิเคราะห์ ทดสอบ แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้านั้น ศทร. วว. มีความพร้อมให้บริการแก่ผู้ผลิตทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ จากประสบการณ์ที่ทำงานภาคสนามของ ศทร. วว. และได้ติดต่อประสานกับผู้ประกอบการ เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศเข้มแข็ง ก่อให้เกิดการสร้างงานสร้างธุรกิจให้ยั่งยืน และในอนาคต ศทร.วว. พร้อมที่จะขยายขอบเขตงานวิเคราะห์
ทดสอบ ให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องให้มากขึ้น เพื่อสนองตอบความต้องการของผู้ประกอบการ ลดการขาดดุลการค้าที่ต้องส่งผลงานไปตรวจวิเคราะห์ ทดสอบ ยังต่างประเทศ ด้วยความเชี่ยวชาญของบุคลากร เครื่องมือ เทคโนโลยี รวมทั้งประสบการณ์ของ วว. นั้น
เชื่อมั่นว่าสามารถตอบโจทย์ แก้ปัญหา รวมทั้งให้คำแนะนำปรึกษาให้กับผู้ประกอบการได้อย่างแน่นอน ผู้ประกอบการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและขอรับบริการจาก ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง วว. ได้ที่ โทร.0 2577 9000 , 02577 9143 ต่อ 201 และ 304 หรือดูรายละเอียดที่เว็บไซต์ www.tistr.or.th/rttc
บทความยอดนิยม 10 อันดับ
- เทคโนโลยีแห่ง G สู่ 5G เครือข่ายไร้สาย
- บทเรียน 'หมิงตี้ เคมีคอล' สู่มาตรการป้องกันไฟไหม้โรงงาน ระยะสั้น-ยาว
- เทคโนโลยีสำหรับโลจิสติกส์ ทางเลือกสู่ทางรอด ปรับก่อนโดนเบียด
- ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ปี 2564
- กลยุทธ์การ PR และ Communication ในยุคดิจิทัล
- นิยามใหม่ SME ใช้ “รายได้” เป็นตัวกำหนด
- แบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคืออะไร ตลาดจะก้าวไปในทางไหนในปี 2030?
- อุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ไทย ปี 2564
- ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน เจาะลึกตู้สินค้าหายไปไหน?
- อุตสาหกรรม 4.0 การผลิตแห่งอนาคต
อัปเดตข่าวทุกวันที่นี่ www.mreport.co.th
Line / Facebook / Twitter / YouTube @MreportTH